‘นักวิชาการ’ จี้รัฐเร่งดำเนินการแผนฟื้นฟู ขสมก. หลังพบ ‘รถเมล์เก่า’ เป็นตัวการก่อฝุ่น PM 2.5 แนะโล๊ะทิ้งหันไปใช้ระบบไฟฟ้า

นักวิชาการ ชี้ “รถเมล์” ตัวการสำคัญก่อฝุ่นพิษ PM 2.5 ใน กทม.-ปริมณฑล จี้รัฐเร่งเปลี่ยนรถเมล์เก่า 3,000 คัน พร้อมหนุนแผนฟื้นฟู ขสมก. ทยอยเปลี่ยนใช้รถเมล์ไฟฟ้า ลดมลพิษ-เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน

รศ.ดร.วันชัย รัตนวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม พบว่า มีอัตราการปล่อยฝุ่นที่ใกล้เคียงกัน โดยภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 40% ขณะที่ภาคขนส่งอยู่ที่ประมาณ 30-40% ซึ่งรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก เป็นตัวการสำคัญของการปล่อยควันดำออกจากท่อไอเสีย ทำให้เกิดมลพิษทำลายสุขภาพของประชาชน แต่หากพิจารณาเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จะพบว่า รถโดยสารสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 เพราะรถบรรทุกส่วนใหญ่จะวิ่งอยู่รอบนอกเมือง

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนไปดูข้อมูลรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่วิ่งให้บริการอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบว่า ปัจจุบันมีประมาณกว่า 3,000 คัน โดยในจำนวนนี้ ได้ถูกเปลี่ยนจากระบบน้ำมัน มาใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) แล้วประมาณ 400-500 คัน นอกจากนี้ ในจำนวนรถเมล์กว่า 3,000 คันดังกล่าว ยังพบว่าเป็นรถเมล์ที่มีสภาพเก่า และมีอายุการใช้งานมานานอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรถเมล์เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เป็นรถเมล์ใหม่ทั้งหมด เพราะประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ได้ลดน้อยลงไปแล้ว

“ผมเข้าใจว่า เนื่องจากรถเมล์ทำแล้วยังขาดทุนอยู่ จึงทำให้รัฐอาจไม่อยากเสียงบประมาณในส่วนนี้เพื่อไปลงทุน เพราะเปลี่ยนไปก็ขาดทุนอยู่ดี แต่หากคิดแบบนี้และปล่อยรถให้เก่าผุพังปล่อยควันพิษต่อไป ก็จะทำให้ประชาชนเจ็บป่วย และสุดท้ายรัฐบาลต้องเสียงบประมาณเพื่อใช้ในการรักษาคนอยู่ดี ซึ่งผมเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. และมีการบรรจุเรื่องการจัดหารถเมล์ใหม่ ที่เป็นรูปแบบรถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ไว้ในแผนพื้นฟูฯ ด้วย เพราะแม้ ขสมก. จะขาดทุนที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเก็บค่าโดยสารราคาถูก แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากได้รับการสนับสนุนให้จัดหารถเมล์ใหม่เป็นระบบอีวีจริง ขสมก.ควรพิจารณาความคุ้มค่าขององค์กรด้วย หากไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และยังเก็บค่าโดยสารที่ถูกเกินไป อาจทำให้ขาดทุนเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปรับให้สูงจนทำให้มีกำไร แต่อยากให้เป็นราคาที่เหมาะสมยอมรับได้ทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

รศ.ดร.วันชัย กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนรถเมล์เก่า ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ ขสมก.ควรต้องเร่งดำเนินการ และสามารถทยอยดำเนินการเปลี่ยนได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป โดยให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญเปลี่ยนรถเมล์ที่มีอายุการใช้งานมากๆ ก่อน เนื่องจากในหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน รถเมล์ที่ใช้น้ำมันที่มีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี จะได้รับการเปลี่ยนใหม่ แต่ปัจจุบันรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ มีอายุกว่า 10-20 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรเปลี่ยนไปใช้รถเมล์พลังงานสะอาดทั้งหมด

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เชื่อว่าหากแผนฟื้นฟู ขสมก. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเกิดประโยชน์กับทั้ง ขสมก. และประชาชน ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นในหลักการถือเป็นแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่ดี โดยเฉพาะการการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสารตามระยะทางที่ให้บริการ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นกิโลเมตร (กม.) เพราะ ขสมก. จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสารจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ การจัดหารถเมล์ใหม่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาให้บริการ มั่นใจว่าจะตรงกับความต้องการของประชาชน และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้ประชาชน ไม่ต้องทนกับการนั่งรถเมล์ผุพังสูดควันพิษอีกต่อไป แต่ทั้งนี้เมื่อมีรถเมล์ใหม่แล้วควรควบคุมเรื่องคุณภาพการบริการด้วย