ชาวสวนทุเรียนเฮ! ‘มนัญญา’ เผยจีนไฟเขียวให้ไทยส่งออกทุเรียน ลุยใช้แนวทาง WHO จ่อทยอยส่ง ก.พ.-พ.ค. นี้

มนัญญาเผยจีนไฟเขียวไทยส่งออกทุเรียน ลุยใช้แนวทาง WHO โกยรายได้มากกว่า 5 หมื่นล้าน/ปี พร้อมสร้างความมั่นใจทุเรียนไทย จ่อทยอยส่งออก ..-..นี้ ด้าน กวก. เผยจีนชมระบบส่งออกผลไม้ของไทย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ได้สั่งการให้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับตัวแทนของประเทศจีน เพื่อสร้างความมั่นใจการส่งออกทุเรียนไปจีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย และจะเริ่มมีการเตรียมการส่งออกตั้งแต่ ..-.. 2564 ทั้งนี้ ให้นำข้อกังวลของนายกสมาคมทุเรียนไทย มาประกอบการหารือ เพื่อช่วยกันรักษาตลาดส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งแต่ละปีจะมียอดส่งออกไปจีนมากกว่า 50,000 ล้านบาท และมีเกษตรกรรวมถึงผู้ที่อยู่ในระบบธุรกิจจนถึงส่งออกรวมแล้วกว่า 140,000 ครัวเรือน

กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนข้อหารือที่ออกมาคาดว่า จะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นสินค้าส่งออกของไทยได้ เพราะได้หารือกับหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งไทยยืนยันว่าจะรักษาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีนทั้งคุณภาพ และความปลอดภัยในทุเรียนของไทยนางสาวมนัญญา กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ร่วมหารือกับผู้แทนของสำนักศุลกากร (GACC) ของจีน เมื่อวันที่ 21 .. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝ่ายจีนแจ้งว่ารัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปนเปื้อนในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดและต้องดำเนินมาตรการการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารที่ขนส่งโดยควบคุมอุณภูมิ (Cold Chain) ตั้งแต่ด่านศุลกากร การขนส่ง การกระจายสินค้า และการจำหน่ายซึ่งการดำเนินการดังกล่าวฝ่ายจีนดำเนินการกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศจีน ได้ชื่นชมระบบการจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพมาก และมีความปลอดภัยสูง โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบรรจุภัณฑ์และสินค้าผลไม้จากไทย ซึ่งทางฝ่ายไทยเน้นย้ำว่าภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยได้ร่วมผนึกกำลังที่จะดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมเพื่อให้สินค้าไทยมีความปลอดภัยควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดี

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ได้นำเสนอมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิต และคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกตามแนวทางในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขององค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการผลิตอาหารในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนอาหาร เช่น การควบคุมกระบวนการผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ และการสร้างความตระหนักให้พนักงานเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของจีน และจีนขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19ในสินค้าผลไม้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้า ไทยจะมีหนังสือแจ้งมาตรการการป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ตามมาตรฐาน FAO และ WHO ที่จะให้โรงคัดบรรจุของไทยปฏิบัติไปยัง GACC  เพื่อทราบ รวมถึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานผลิตและเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งไทย และต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นทั้งภาษาไทย จีนอังกฤษ

สำหรับสาระสำคัญแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับความปลอดภัยสำหรับธุรกิจอาหาร ที่FAO และ WHO แนะนำนั้นจะเน้นที่ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนโดยจัดการความเสี่ยง และควบคุมจุดวิกฤตนอกเหนือจากการปฏิบัติตามโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะ ความเหมาะสมต่อการทำงานการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่การผลิต การควบคุมผู้ส่งมอบ การเก็บรักษา และตลอดสายการผลิต

นอกจากนั้น กำหนดให้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบ หรือทีมที่พิจารณาว่า อาจมีความเสี่ยงหรือต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขอคำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร มีการจัดการสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากผู้ปฏิบัติงานที่จะนำไวรัสปนเปื้อนสู่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ มีการฝึกอบรมพนักงาน การทบทวนการฝึกอบรมพนักงาน กำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนพนักงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องหมั่นสังเกตตัวเองหากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันทีนายพิเชษฐ์ กล่าว