‘กรมรางฯ’ คลอดประกาศฉบับที่ 8 คุมเข้มมาตรการสกัด ‘โควิด-19’ พร้อมฟื้นแนวทาง Social Distancing ‘นั่งเว้นที่นั่ง’

กรมรางฯออกประกาศฉบับที่ 8 เข้มมาตรการสกัดโควิด-19“ ตั้งจุดตรวจคัดกรองจุดบริการแอลกอฮอล์เพิ่มความถี่ทำความสะอาดขบวนรถ พ่วงเว้นระยะห่างทางสังคมให้นั่งเว้นที่นั่งพร้อมขอความร่วมมือ รฟท. งดเดินรถเส้นทางจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 .. 2564) นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาราชการแทนอธิบดี ขร. ได้ลงนามในประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 8 โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเพื่อร่วมกันลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และที่ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นโดยพบผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มในการแพร่กระจายโดยผ่านเส้นทางการคมนาคมในทุกรูปแบบ โดยเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

กรมการขนส่งทางรางจึงประกาศมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดสูงสุด ดังนี้ ข้อ 1 หน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ กล่าวคือ 1.ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดออกมาตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน .. 2548 (ฉบับที่ 16 และ 17) โดยเคร่งครัด 2.กรณีที่มีการบริการขนส่งทางรางในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้ประสานหน่วยงานสาธารณสุข จัดให้มีการตรวจหาเชื้อฯ แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้โดยสาร และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยเร็ว

พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการติดเชื้อฯ ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยกำชับให้สวมหน้ากากและถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยเคร่งครัด รวมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์สารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE (PERSONAL PROTECTIVE EQUIPMENT) ให้เพียงพอแก่พนักงานผู้ปฏิบัติงาน

3.ให้จัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ปฏิบัติงานในแต่ละวันและช่วงเวลา สำหรับกรณีจำเป็นต้องการสอบสวนโรค และกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้แอปพลิเคชันไทยชนะควบคู่กับแอปพลิเคชันหมอชนะ 4.จัดให้มีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกวันก่อนปฏิบัติงาน หากพบว่ามีอาการป่วยหรือมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสหรืออาการที่เข้าข่ายการติดเชื้อฯ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติรายนั้นลางาน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดสัมผัสผู้อื่น และไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที และ/หรือติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือกรมควบคุมโรคเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

5.เพิ่มความเคร่งครัดสูงสุดในการคัดกรองผู้โดยสาร โดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการในระบบหากพบผู้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ จะต้องให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อและให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่ถูกต้องรัดกุม ตลอดเวลา และ/หรือ ติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่หรือกรมควบคุมโรคเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามกฎหมายหรือระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมแก่เหตุอันควรรายกรณี และชี้แจงเหตุผลอันจำเป็นแก่ผู้โดยสารอันเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคติดต่อ และให้พิจารณาการสงวนสิทธิ์การเข้ารับบริการภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ของแต่ละหน่วยงาน

6.ให้สนับสนุนการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ การคัดกรอง ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจล สารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อฯ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE ให้เพียงพอ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการให้บริการผู้โดยสาร และการทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อภายในสถานี ขบวนรถ และจุดมือสัมผัส ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค 7.ให้ติดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารใช้ก่อนและหลังจากใช้ระบบ รวมถึงพนักงานในพื้นที่ส่วนกลางและบริเวณที่มีการใช้งานร่วมกัน เช่น บริเวณทางเข้าออกสถานี ห้องออกบัตรโดยสาร

8.เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคบริเวณจุดสัมผัส เช่น ราวจับ ที่จับบริเวณประตู เก้าอี้นั่งโดยสาร เครื่องออกตั๋วโดยสาร ราวจับบันได/บันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟท์ และห้องน้ำ เป็นต้น และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน โดยให้ดำเนินการตามมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ 9.ให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ภายในสถานีและภายในขบวนรถ โดยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือและกำกับดูแลให้ผู้ใช้บริการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลขณะยืนภายในสถานีหรือในขบวนรถ ประมาณ 1-2 เมตร และให้เว้นที่นั่ง ในลักษณะที่เว้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารนั่งติดกัน เว้นแต่เป็นผู้ที่เดินทางมาด้วยกัน

10.ให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และรณรงค์แนะนำการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แก่ผู้โดยสาร ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ จอ LED เสียงประชาสัมพันธ์ภายในสถานีและขบวนรถ และสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น 11.ให้มีจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า บริเวณสถานี หรือร้านค้าสวัสดิการ หรือจุดที่ประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในระบบ และ 12.ขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในระบบขนส่งทางราง ให้ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะควบคู่ไปกับการใช้แอปพลิเคชันหมอชนะเพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค

นอกจากนี้ ข้อ 2 การให้บริการระบบรถไฟโดยสารข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขอความร่วมมือให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือปฏิบัติ ดังนี้ 1.ให้งดการเดินรถไฟโดยสารประเภทนำเที่ยวที่มีเส้นทางการบริการในเขตพื้นที่จังหวัดที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด เนื่องจากควบคุมการพูดคุยและสัมผัสใกล้ชิดภายในขบวนรถได้ยาก เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น 2.เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองผู้โดยสารโดยเคร่งครัด สถานี ป้ายหยุดรถ และที่หยุดรถ เพื่อคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและกำกับดูแลให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบบันทึกข้อมูลการเดินทาง เหตุผลความจำเป็น และสถานที่ปลายทางของผู้โดยสาร โดยพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมแก่เหตุอันควรรายกรณี