“เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย – เปลี่ยนที่ใคร? เริ่มตอนไหน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ !!”

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ “ส้ม” กลายเป็นผลไม้ยอดฮิต เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการทำให้ต้องมีติดบ้านไว้อยู่เสมอแล้ว ผลส้มที่เป็นสีทองสวยนั้นยังให้ความหมายเป็นมงคล และถูกนำมาใช้ในแทบทุกเทศกาล แต่จากการสำรวจโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยเป็นสารเคมีตกค้างชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด ซึ่งจากการสุ่มตรวจในหลายๆ ครั้ง ก็ยังพบว่าเกินมาตรฐาน แต่กลัยังคงวางขายกันปกติ เป็นเพราะยังไม่เคยเกิดการบังคับใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในการบริโภคผักผลไม้ของประเทศไทย และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักละเลยหรือเพิกเฉย หลายครั้งมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือใช้วิธีการหลีกเลี่ยงที่จะบริโภคอาหารที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ปลอดภัย ไม่มีการเรียกร้องอย่างจริงจัง

เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” จึงได้จัดกิจกรรม “Orange Spike เราไม่เอาส้มอมพิษ” ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเชิญชวนให้ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้กลไกลตลาดผลักดันให้กระบวนการผลิตส้มปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยร่วมกันลงนามเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้ม

โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ได้ที่ www.dearconsumers.com/th/petition
ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทั้งจากผู้บริโภค นักวิชาการ รวมถึงผู้จำหน่ายอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เพื่อร่วมกันหาแนวทางเปลี่ยนส้มอมพิษให้เป็นส้มปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจจากอันตรายในสารพิษเรื้อรัง โดยการเจ็บป่วยเช่นโรคมะเร็งทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 85,000 คนต่อปี และผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 122,757 คนต่อปี แม้แต่เด็กในท้องปัจจุบันยังพบสารเคมีในเลือด ในน้ำคร่ำ สิ่งเหล่านี้เป็นภัยเงียบภัยคุกคามที่อันตรายต่อทุกคน พร้อมเสนอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการจัดทำคิวอาร์โค้ด (QR Code) สามารถบอกข้อมูลมากกว่าแหล่งที่มา อาจแจกแจงไปถึงขั้นแสดงงบประมาณซื้อสารเคมีที่แปลงเกษตรเหล่านั้นใช้ต่อปี เพื่อประเมินข้อเท็จจริง รวมถึงข้อมูลที่แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้นสามารถช่วยให้เกษตรกรมีสุขภาพดีขึ้นได้จริง พร้อมข้อมูลด้านโภชนาการเพิ่มเติม

นางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ได้พูดถึงการใช้สิทธิที่ถึงมีของผู้บริโภคว่า ส่วนหนึ่งของพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ได้ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่สามารถจะขอทราบข้อมูลและความปลอดภัยอย่างเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการเรียกเงินชดเชยจากร้านค้าที่นำสินค้าเกษตรค่าสารเคมีเกินมาตรฐานมาจำหน่ายได้ ดังนั้นผู้บริโภคต้องรู้สิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งคำถามก่อนซื้อ และตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของอาหาร (Traceability) ผ่านการสแกน QR Code ในมุมของส้มนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรจะรับทราบ ควรจะมีตั้งแต่ผู้ผลิตเป็นใคร รวมถึงกระบวนการผลิตส้ม อาทิ วงจรการผลิตส้มทุกรุ่นตลอดปี รายละเอียดความเปราะบางและความเสี่ยงในการผลิตส้ม สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และปริมาณที่ใช้ รวมถึงช่วงเวลาการเว้นระยะในการใช้สารเคมี และกระบวนการตรวจส้มของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ควรบอกถึงการคัดกรองส้มที่จะนำเข้ามาจำหน่ายว่ามีขั้นตอนอย่างไร

เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ตัวแทนผู้บริโภคและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ระยะหลังมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิดจากบทบาทและงานที่ทำอยู่ ได้แชร์มุมมองในเรื่องนี้ว่า “ปกติเป็นคนทานส้มเป็นประจำ และรับรู้จากข่าวมาตลอดว่าส้มมีสารพิษตกค้างเชื่อว่าไม่มีผู้บริโภคอยากทานส้มที่มีสารเคมีตกค้าง แต่ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีในการเกษตรหรือผลเสียจากการได้รับสารเคมีเหล่านี้มีน้อยมากและรู้สึกเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้อผักผลไม้จากซูเปอร์มาร์เก็ตที่แต่ละคนไว้วางใจ เพราะสะดวก ใกล้บ้าน และคิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีการคัดกรองสินค้าที่มีคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งหากแนวทางที่นำเสนอให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหาร ผ่าน QR Code สามารถทำได้จริงอย่างโปร่งใส ผู้บริโภคก็จะสามารถเลือกส้มที่ปลอดภัยทานได้อย่างมั่นใจและยินดีที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกส้มอย่างปลอดภัย ดังนั้นการขอส้มที่ปลอดภัยจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราควรถามหาได้”

ฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อย่าง นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ให้ข้อมูลว่า แม็คโคร (Makro) มีการจำหน่ายส้ม 8 ตันต่อปี มีการใส่ใจในเรื่องของคุณภาพของส้มเป็นพิเศษ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการ ส้มปลอดภัยคนไทยยิ้มได้ (Safe orange make Thai people smile) ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อทำให้สินค้ามีคุณภาพสม่ำเสมอ มีความปลอดภัยจากสารตกค้าง และยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีความยั่งยืน โดยแม็คโครมีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้เกษตรกรใช้ได้ฟรี เรียกว่า Makro iTrace ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าย้อนกลับได้จนถึงฟาร์มด้วย QR Code โดยตรวจสอบตั้งแต่ระดับแปลง จนถึงโรงคัดบรรจุ ผู้บริโภคสามารถดูข้อมูลได้ว่าเกษตรกรใช้สารเคมีอะไร วิธีให้น้ำให้ปุ๋ยเป็นอย่างไร ทำให้มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย พร้อมให้คำสัญญา น้อมรับความเห็น สร้างสินค้าปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่ใจ แต่พร้อมลงมือทำด้วยการคัดเลือกผู้เล่น และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ นำไปปฏิบัติเช่นกัน

ด้าน บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด โดย นางอารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ เล่าว่า ท็อปส์ (Tops) วางนโนบายเรื่องของคุณภาพไว้อย่างชัดเจน ว่าผู้บริโภคจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและแหล่งที่มาของอาหาร รวมถึงการได้รับอาหารที่ปลอดภัย สิ่งที่ท็อปส์ทำคือการดูแลตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะ โดยการพัฒนาฟาร์ม ชุมชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจชุมชนที่คัดเลือกผลผลิตมาให้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเข้าไปให้ความรู้ทั้งในเรื่องการเพาะปลูก การควบคุมการใช้สารเคมี และขอความร่วมมือจากผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งนี้ สินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้นั้นต้องผ่านการรับรองตั้งแต่ในฟาร์มอย่างน้อยต้องมีการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP)

ปัจจุบันมีการออกกฎหมายให้ส้มเป็นผลไม้ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งทางซูเปอร์มาร์เก็ตได้ร่วมมือกับทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติในเรื่องของการจัดทำ QR Code บนผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมการตรวจสอบย้อนกลับกว่า 100 ราย และสำหรับผู้ผลิตที่ไม่ได้ร่วมทำการตรวจสอบย้อนกลับนี้ก็จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าที่ท็อปส์ได้
ภาพรวมปัจจุบัน แม้การสแกนคิวอาร์โค้ดของหลายซูเปอร์มาร์เก็ตโดยรวมยังให้ข้อมูลไม่มากพอ ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่มีการระบุว่าสินค้าเกษตรนั้นใช้สารอะไรมาบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มเปลี่ยนแปลง ในฐานะผู้บริโภคก็หวังว่าจะมีการพัฒนาดียิ่งขึ้นในวันหน้า ยิ่งหากภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดัน ลงงบฯวิจัยจริงจังกับการใช้สารเคมีเหล่านั้นให้มากขึ้นด้วยแล้ว ย่อมส่งผลดีกับสุขภาพคนไทยในระยะยาว

ร่วมกันลงนามในข้อเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้ม โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ได้ที่ www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)