เลื่อน! ‘แผนฟื้นฟู ขสมก.’ หลุดเป้า เลื่อนส่งมอบรถออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน ‘คมนาคม’ เฝ้ารอ ‘คลัง-สภาพัฒน์’ ตอบความเห็น ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ หวั่น ปชช.เสียโอกาส

“แผนฟื้นฟู ขสมก.” หลุดเป้า เลื่อนส่งมอบรถออกไปอีก 2 เดือน หลังรอความเห็น “ก.คลัง-สภาพัฒน์ฯ” ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งเลขา ครม. เร่งดำเนินการ “ศักดิ์สยาม” หวั่นเสียโอกาส ปชช.ใช้บริการไม่มีคุณภาพ ฟาก “คมนาคม” ลุยถกร่วมอนุ กมธ. เปลี่ยนผ่านสู่ระบบไฟฟ้า (EV) นำร่อง ขสมก. พร้อมหนุนผู้ประกอบการไทยเต็มสูบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ (สศช.) ซึ่งประเมินว่า ในปัจจุบันการดำเนินการแผนฟื้นฟูดังกล่าว ได้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งถึงแม้หาก ครม.จะมีมติเห็นชอบภายใน ธ.ค. 2563 นั้น ขสมก.จะเริ่มทยอยรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ล็อตแรก จำนวน 400 คัน ในช่วง พ.ค. 2564 จากเดิมจะเริ่มทยอยรับ มี.ค. 2564 และครบ 2,511 คันใน 7 เดือน (ก.ย. 2564) ขณะเดียวกัน หากยังเลื่อนออกไปอีก ก็ขยับกรอบระยะเวลาออกไปอีกด้วย ทั้งนี้ จากความคืบหน้าดังกล่าว ได้เรียนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนายกฯ ได้สั่งการให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเร่งดำเนินการต่อไป เนื่องจากได้ส่งเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปประมาณเกือบเดือนกว่าแล้ว

“ผมก็บอกว่า สิ่งที่เราเสนอไป ไม่ได้ความว่าจะต้องเป็นไปตามที่คมนาคมเสนอทุกเรื่อง เมื่อมีความเห็นมา เราก็มีหน้าที่อธิบายความเห็นเหล่านั้น และรีบเอาความเห็นมา เพราะถ้ารอ ก็เสียโอกาสหลายเรื่อง ทั้ง ขสมก.ขาดทุนสะสมเพิ่มเรื่อยๆ ประชาชนก็ได้ใช้บริการที่ไม่มีคุณภาพ แล้วสร้างมลพิษเกิดขึ้นทุกวันจากสภาพรถ ขสมก. ซึ่งตอนนี้รอความเห็นที่ชัดเจนจาก กระทรวงการคลัง ที่มีคำถามเพิ่มขึ้นอีกในเรื่องการบริหารหนี้ และสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเราต้องอธิบายให้ได้ จะให้เราอธิบายเรื่องไหนบ้าง หรืออยากให้ทำอะไรก็บอกมาได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้แบบนี้ต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการศึกษายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า โดยระบุว่า จะใช้ระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านภายใน 15 ปี ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ที่ 20 ปี เนื่องจากจะต้องดูเรื่องของระเบียบกฏหมาย แผนการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ จากการหารือกัน พบว่า ข้อมูลมีความสอดคล้องกัน  แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงเรื่องที่ไทยอาจจะถูกประเทศอื่นเข้ามาแย่งชิง เนื่องจากต่างประเทศมีความได้เปรียบเรื่องการลงทุนสร้างโรงงาน โดยได้ชี้แจงไปว่า เรื่องการสนับสนุนใช้รถไฟฟ้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ส่งเสริมการลงทุน

“ได้เสนอแนะไปยังคณะอนุกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, พลังงาน, มหาดไทย, คลัง, สิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษา ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รายงานว่ามีแผนจะไปอยู่แล้ว นอกจากนี้ ได้ฝากเรื่องของการบริหารจัดการแบตเตอลี่ที่ใช้งานหมดไปแล้ว เนื่องจากมีมลพิษซึ่งจะเป็นปัญหาในภายหลัง รวมถึงให้ไปศึกษาเรื่องของการจัดตั้งกองทุน เพื่อมาช่วยผู้ประกอบการ เนื่องจากมองว่าเรื่องเหล่านี้มีความสามารถไม่เท่าเทียมกันที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานไฟฟ้า จากข้อมูลพบว่าการเปลี่ยนเครื่อง EV ราคาคันละ 3 แสนบาท ซึ่งต้องดูว่ามีแนวทางใดบ้าง โดยในส่วนของกระทรวงสิ่งที่ทำได้ เช่นการลดค่าทำเนียบและการต่อใบอนุญาตรถ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น จะเริ่มนำร่องการดำเนินการเปลี่ยนไปใช้ EV กับรถ ขสมก.รวมถึงรถสาธารณะประเภทอื่นด้วย เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถแท๊กซี่ เป็นต้น แต่จะต้องพิจารณาความพร้อม ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมธิการฯ ระบุอีกว่า ประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้แล้ว เช่น รถ ขสมก.มีหลายบริษัทที่สามารถผลิตโดยใช้เวลาทำ 2,500 คันภายใน 1 ปี มีเพียงแค่การนำเข้ามอเตอร์ และแบตเตอรี่เท่านั้น เนื่องจากกังวลว่ากระทรวงคมนาคมจะปิดกั้นการเข้ามาร่วมประมูลของบริษัทไทย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่า จะต้องมีการใช้วัสดุในประเทศ (Local Content) อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า50%

สำหรับมาตรการในการดำเนินการเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการ ลงทุนเพื่อสร้าง อุปทาน (Supply) 2.มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ (Demand) 3.เตรียมความ พร้อมโครงสร้างพื้นฐาน 4.การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า 5.การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และ 6.มาตรการอื่นๆ