กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดประกวดออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน สำหรับนิสิตนักศึกษา ชิงทุนการศึกษารวม 1 ล้านบาท

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานด้านกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง มีปริมาณเพียงพอ และทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน รวมถึงมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 นี้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับ 26 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการประกวดออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพ (Young Architect ECO Home Contest)”

นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 เพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ที่ว่าด้วย การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ ให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการประกวดออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพ (Young Architect ECO Home Contest) สำหรับนิสิตนักศึกษา ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้างมาตรฐาน เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถนำไปก่อสร้างเป็นบ้านประหยัดพลังงานได้จริง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน (Clean Energy For Life)”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด จะต้องกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มัณฑนศิลป์ หรือคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การประกวด แบ่งออกเป็นสองประเภทตามขนาดพื้นที่ของบ้าน คือไม่เกิน 150 ตารางเมตร และไม่เกิน 300 ตารางเมตร โดยเริ่มจากระดับภูมิภาค ผู้ชนะที่ 1, 2 และ 3 ของทั้งสองประเภท จะเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศ ชิงทุนการศึกษารวม 1,000,000 บาท

นอกจากนิสิตนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์จากการประกวดแบบแล้ว โครงการนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ยุวสถาปนิก (Young Architect) ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติวิชาชีพออกแบบสถาปัตยกรรมต่อไปในอนาคต”