‘นักวิชาการ’ มองอนาคตโลจิสติกส์ไทย 20 ปีหลังจากนี้ พร้อมก้าวสู่ฮับในภูมิภาค ‘ราชภัฏสวนสุนันฯ’ ลุยเปิดหลักสูตร บสล. รุ่น 1 ต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรม

“นักวิชาการ” มองอนาคตโลจิสติกส์ไทย 20 ปีหลังจากนี้ พร้อมก้าวสู่ฮับในภูมิภาค ขานรับเมกะโปรเจ็กต์รัฐ-อีอีซี-ไฮสปีดเทรนจีน-ลาว ชี้ “โควิด-19” นับเป็นโอกาสทอง หลังพฤติกรรมเปลี่ยน แนะเปลี่ยนโหมดสู่เทคโนโลยีมากขึ้น ลั่นหลายภาคส่วนเบนเขมเป็นผู้เล่นตลาดโลจิสติกส์เพิ่ม ด้าน “ราชภัฏสวนสุนันฯ” ลุยเปิดหลักสูตร บสล. รุ่น 1 อบรมผู้บริหารระดับสูง ต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรม

ดร.ฉัตรรัตน์  โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนคณบดี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางและตำแหน่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปีหลังจากนี้นั้น กำหนดให้ไทยพัฒนาสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ เป็นแหล่งผลิตสินค้า เกษตรกรรมยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวถึงสถานการณ์โลจิสติกส์ไทยว่า ในปัจจุบันมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งเดลิเวอรี่ เนื่องจากกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหารออนไลน์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้านโลจิสติกส์ที่ทวีความต้องการเพิ่มขึ้น อาทิ ด้านคลังสินค้า การขนส่ง การนำเข้า-ส่งออก จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายภาคธุรกิจ หันมาลงทุนด้านโลจิสติกส์มากขึ้น เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น มองว่า โควิด-19 ถือเป็นโอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ เพราะทุกคนหันมาให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ และบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ที่มีการปรับตัว เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันเรื่องโลจิสติกส์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ๆ ทั้งยังสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมควบคู่ไปด้วย

ดร.มะโน กล่าวต่ออีกว่า ไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญด้านโลจิสติกส์ ที่จะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศอื่น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ที่จะต้องส่งต่อผ่านมายัง จังหวัดหนองคาย ก่อนเชื่อมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง สอดรับกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล ในการสร้างถนน รถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงนับว่ารัฐบาลได้ดำเนินการสร้างโอกาส และรายได้ของไทย รวมถึงโลจิสติกส์ของไทย จะกลายเป็นรายได้หลักของประเทศ แทนด้านการท่องเที่ยวในอนาคต

 

ทั้งนี้ ล่าสุด วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เปิด “หลักสูตรผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน รุ่นที่ 1 (บลส.1)” ซึ่งเป็นการสัมมนาหลักสูตรระดับสูง ทางด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจากระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทฤษฎีเชิงประยุกต์ในการออกแบบ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อการแข่งขันและยั่งยืน อีกทั้ง จะสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

สำหรับจุดประสงค์หลักของการจัดหลักสูตรดังกล่าวนั้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้าน สำหรับด้านโลจิสติกส์และซับพลายเชน ให้ร่วมสมัยกับสถานการณ์ปรกติใหม่ (New Normal) และวิธีปฏิบัติระดับสากล รวมถึงนำความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคและวิทยาการของวิทยากรผู้บรรยาย คณาจารย์และผู้บริหารที่เข้ารับการอบรม มาเป็นบูรณาการให้แก่นักศึกษา และสถาบันการศึกษา อีกทั้งยังเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ตลอดทั้งสานสัมพันธ์ผู้บริหารภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวงการอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนต่อไปในอนาคต

โดยหลักสูตรดังกล่าว จะเปิดรับรุ่นละ 80 คน ซึ่งในขณะนี้สนใจสมัครแล้ว 20 กว่าคน และมีการติดต่อสอบถามมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ในอนาคตจะมีการต่อยอดหลักสูตร และมีแผนเปิดหลักสูตรที่เป็นวิชาชีพโลจิสติกส์ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ป้อนไปยังตลาดแรงงานโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นตลาดแรงงานระดับสูง และเป็นที่ต้องการมาก ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ