‘ทางหลวงชนบทฯ’ เตรียมสร้างถนนสาย ง3 ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย เชื่อมคมนาคมเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาว รองรับรถไฟทางคู่-การจราจรในอนาคต

“ทางหลวงชนบทฯ” ลุยสร้างถนนสาย ง3 ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย เร่งเวนคืนที่ดินงบ 377 ล้าน พื้นที่ 84 ไร่ พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้าง 109 หลัง ระบุ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ เชื่อมคมนาคมเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาว รองรับรถไฟทางคู่และการจราจรในอนาคต 

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จังหวัดหนองคายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราบ และกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระบบรางและทางถนนให้สมบูรณ์ รองรับปริมาณการจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทช.จึงได้ดำเนินการสำรวจออกแบบถนนสาย ง3 ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

สำหรับโครงการดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นโครงการจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 233 (หนองคาย ถึง อุดรธานี) กม.ที่ 4+985 บริเวณจุดสิ้นสุดถนนผังเมือง (ถนนสาย ก เดิม) ไปทางทิศตะวันตกตามแนวซอยองค์การ 2 จนถึงแนวเขตทางรถไฟและไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวเขตทางรถไฟ ตัดผ่านถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัดผ่านถนนลาดยาง (ถนนศูนย์ราชการ ถึง นาไก่) ไปสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 243 (หนองคาย ถึง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) กม.ที่ 1+990 รวมระยะทาง 2.811 กิโลเมตร โดยจะก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.25 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก กว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้าง 4.50 เมตร เขตทางกว้าง 30 เมตร พร้อมระบบระบายน้ำและไฟฟ้าส่องสว่าง

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการสำรวจออกแบบเสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2.80 ล้านบาท ซึ่งจะมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 84 ไร่ (157 แปลง), อาคารสิ่งปลูกสร้างที่จะถูกเวนคืนประมาณ 109 หลัง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งสิ้น 377 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ที่ผ่านมา ทช.ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว