‘แอร์พอร์ต เรล ลิงก์’ ชงบอร์ด รฟท. เดือนนี้ เคาะลดค่าโดยสารช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 3 เดือน คาดเริ่มลดราคา ต.ค.-ธ.ค. 63

“โควิด-19” ฉุดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ปี 63 หาย 40% พร้อมเตรียมชงบอร์ดการรถไฟฯ ภายในเดือนนี้ ลดค่าโดยสารช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 3 เดือน มีผล ต.ค.-ธ.ค. 63 สนองนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ลดค่าครองชีพให้ประชาชน ด้านยอดผู้โดยสารรวมตลอด 10 ปี คาดทะลุ 200 ล้านคนภายในปีนี้

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการลดลง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประมาณ 24 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 40% ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 35 ล้านคน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการ โดยล่าสุดมีผู้โดยสารทยอยกลับมาใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 57,000 คนต่อวัน หลังจากที่ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดต้นปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเหลืออยู่ประมาณ 10,000 คนต่อวัน จากปกติในช่วงไม่มีการแพร่ระบาด จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 90,000-100,000 คนต่อวัน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่หายไป ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติ ที่ใช้บริการเชื่อมการเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ขณะที่ มาตรการลดค่าโดยสารนอกช่วงเวลาเร่งด่วน (Off Peak Hour) วันจันทร์-วันศุกร์ ใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 05.30-07.00 น., 10.00-17.00 น. และ 20.00-24.00 น. ให้แก่ผู้โดยสารที่ถือบัตรสมาร์ทพาส ประเภทบุคคลทั่วไป จากอัตราค่าโดยสารปกติ 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาทนั้น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาอนุมัติออกมาตรการดังกล่าวภายใน ก.ย. นี้ ก่อนที่จะมีผลในการลดค่าโดยสารในช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2563 หรือระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่าโดยสารนอกช่วงเวลาเร่งด่วนนั้น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เคยดำเนินการไปแล้ว เมื่อช่วงวันที่ 30 มี.ค.-30 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมาเราดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน และประสิทธิภาพ ทำให้ผู้โดยสารมีความพึงพอใจในการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร๖ เรล ลิงก์ สังเกตได้จากผลสำรวจความพึงพอใจประจำปีที่มีแนวโน้มดีขึ้นมาโดยตลอด รวมไปถึงราคาค่าโดยสารที่เรายังไม่เคยขึ้นค่าโดยสารเลย ยังคงเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท โดยปกติแล้ว ทุกๆ 5 ปี จะต้องขึ้นค่าโดยสารตามค่าครองชีพ แต่ 10 ปีแล้ว เรายังไม่เคยขึ้นเลย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพที่ใช้จ่ายประจำวัน” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินการตลอดระยะเวลา 9 ปี ก้าวสู่ปีที่ 10 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พร้อมเดินหน้าสานต่อการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารรวมนับตั้งแต่เปิดให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 185 ล้านคน และจะทะลุเกิน 200 ล้านคนภายในปีนี้ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 11-12% จากปัจจัยการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถให้บริการได้เต็มความจุขบวนรถที่มีอยู่ 9 ขบวนในปัจจุบัน หรือรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 750 คนต่อขบวน (นั่ง/ยืน)

ขณะที่ ความคืบหน้าการโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ให้กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ในขณะนี้ทางกลุ่มซีพี ได้เข้ามาประเมินระบบต่างๆ ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อเตรียมเข้ามาบริหารงานใน ต.ค. 2564 ทั้งในส่วนของขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ สถานีรถไฟฟ้า ที่จอดรถไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม โครงสร้างทางวิ่ง ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่ดี นอกจากนี้ ทางกลุ่มซีพี จะต้องเตรียมซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้า (Overhaul) ให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค. 2563 ด้วย หลังจากได้ส่งแผนการดำเนินการไปให้พิจารณาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลา ต.ค. ปีหน้า เนื่องจากอะไหล่บางชนิดจะต้องใช้ระยะเวลาสั่งซื้อประมาณ 1 ปี