ส่อง! ผลงาน ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ลุยพัฒนาคมนาคมไทย อัพเกรดคุณภาพชีวิตประชาชน กระจายความเจริญครอบคลุมทุกมิติ สู่ความยั่งยืน

เข้าสู่ปีที่ 2 ของการนั่งแท่น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” นำทัพโดย “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” หลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันนั้น จวบจนถึงวันนี้ นโยบายหลายเรื่องได้เห็นผลเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล บางนโยบายอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ทดสอบ สรุปผล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การนำไปปฏิบัติจริง

“นายศักดิ์สยาม” ถือเป็น 1 ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินหน้าภารกิจต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งเคยประกาศประกาศิตไว้ว่า ต้องการเดินหน้าสร้างความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตประจำวันของประชาชนให้ดีขึ้น กระจายรายได้ สร้างความเจริญอย่างทั่วถึงในมุมกว้าง ที่สำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมาในหลายยุคหลายสมัย รอการแก้ปัญหาให้สำเร็จ

***ส่องผลงาน “ศักดิ์สยาม” ก้าวสู่ปีที่ 2***

เมื่อย้อนไปดูผลงาน 1 ปีที่ผ่านมาของ “นายศักดิ์สยาม” ภายใต้สโลแกน “คมนาคม ยูไนเต็ด” นโยบายที่เปิดฉากได้อย่างสวยสดงดงาม และเชื่อว่าจะถูกใจใครหลายคน คือ การลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งนับเป็นนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดภาระในการเดินทางของประชาชน โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินมาตรการตามนโยบายฯ ด้วยการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยกำหนดอัตราโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14 – 42 บาท) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token)

ต่อกันที่มหากาพย์ 25 ปี ปมประเด็นค่าโง่สัมปทานทางด่วน หรือข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ได้ระงับข้อพิพาทคดีทางด่วนที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียค่าโง่ และมาสิ้นสุดในยุค “นายศักดิ์สยาม” โดยนับเป็นการสะท้อนคำกล่าวตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมเอ่ยปากไว้ว่า “ในยุคของตน จะต้องไม่มีค่าโง่ และต้องไม่ทิ้งภาระให้ใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนั้น ได้มีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 และยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดีที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท พร้อมทั้งยกเว้นค่าผ่านทางทุกด่านตามประกาศวันหยุดประจำปีของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีประมาณ 19 วันต่อปีตลอดอายุสัมปทาน

มากันที่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการจราจร และการวางแผนงานในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับประชาชน กล่าวคือ การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 ถือเป็นงานหินของ “กระทรวงคมนาคม” ในที่ใครผ่านมาผ่านไป ต่างบนกันเป็นเสียงเดียวกัน ถึงความสาหัสบนท้องถนนเส้นนี้ จากหลากหลายปัจจัยทั้งการเป็นเส้นทางหลักในการจราจรลงพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงโครงการก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง ที่ไม่มีวันจบสิ้น กลายเป็นภาพชินตา จนได้รับฉายานามว่า “ถนน 7 ชั่วโคตร” แต่ “นายศักดิ์สยาม” ได้มีการหยิบยกแนวทางการบริหารจัดการจราจรในงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างในพื้นที่การจราจรหนาแน่น 6 มิติ จากโมเดลของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 9 (วงแหวนตะวันออก) มาประยุกต์ใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงการก่อสร้างและร่วมบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องขอชื่นชมเจ้ากระทรวงคมนาคม ที่มองเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ในการลดผลกระทบจากการดำเนินการ โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาการจราจร ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ

***เปิดฉากมอเตอร์เวย์ M7 ต่อขยาย-สตาร์ทยางพารา***

เมื่อในวันที่ 24 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นฤกษ์งามยามดี ในการเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี-มาบตาพุด ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร (กม.) อย่างเป็นทางการ โดยมี “พลเอกประยุทธ์” เป็นประธาน ในพิธี ซึ่งเส้นทางดังกล่าว ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

อีกทั้ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด “นายศักดิ์สยาม” ภายใต้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ ทล. ไปดำเนินการส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา–มาบตาพุดให้ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 3.5 กม. เชื่อมต่อโดยตรงกับอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการได้เพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีในอนาคต รวมทั้งเติมเต็มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย โดยทล. จะใช้งบประมาณเพื่อนำมาศึกษาจากกองทุนมอเตอร์เวย์ประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายสิ้นปีนี้ จะได้ข้อสรุปจำนวนพื้นที่ที่มีการเวนคืนทั้งหมด

โดยในส่วนของผลการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563 จากนั้นในปี 2564 จะสำรวจออกแบบรายละเอียด พร้อมศึกษาผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และในปี 2565 จะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างมอเตอร์เวย์ดังกล่าว เชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ของสนามบิน พร้อมทางแยกต่างระดับจุดเชื่อมต่อถนนสุขุมวิท โดยอาจจะใช้งบประมาณก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะแล้วเสร็จในปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้เป็นไปตามแผนเปิดสนามบินอู่ตะเภาด้วย

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากจะเดินหน้าพัฒนาการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งแล้ว “นายศักดิ์สยาม” ยังเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางด้วย โดยการออกนโยบายใช้ “ยางพารา” ในโปรเจ็กต์คมนาคม ประเดิมแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ หวังเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง อัพเกรดความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด มาจัดทำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และ หลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ทีผ่านมา ทล.ได้นำร่อง RFB มาติดตั้งบนถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี หรือถนนบำราศนราดูร จันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ช่วงก่อนถึงโค้งวัดชำโสม ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เป็นเกาะสี ระยะทาง 400 เมตร วงเงินประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเส้นแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และเพิ่มการผลิตให้กับชาวสวนยาง โดยหลังจากนี้ จะนำไปดำเนินการที่จังหวัดสตูล และจังหวัดบึงกาฬต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบแผนงานที่ดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (‪2563-2565‬) แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ จะนำมาใช้ถนนของ ทล. และ ทช. กว่า 12,000 กม. วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ถนนของ ทล.11,000 กว่ากม. และถนน ทช. 1,000 กว่า กม. และหลักนำทางยางธรรมชาติ 1,063,651 ต้น ทั้งหมดทั้งมวล คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท

… นี่อาจเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม หรือส่วนหนึ่งในผลงานของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แว่วมาว่าไม่เพียงเท่านี้ ยังมีผลงานอีกมากมาย เช่น การยกเลิกไม้กั้นเปลี่ยนมาใช้ระบบ M-Flow, การแก้ไขปัญหาจราจรในมิติต่างๆ การกำหนดความเร็วรถ การใช้บริการรถส่วนบุคคลโดยเรียกผ่านแอปพลิเคชั่น ระบบตั๋วร่วม และอื่นๆ อีกมากมาย แต่จะเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ หรือเห็นผลชัดเจนตอนไหน ไว้ค่อยมาติดตามกันต่อไป …