9 ปีที่รอคอย! รฟท. ลงนาม ‘กิจการร่วมค้า SFR’ จัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน วงเงิน 6.52 พันล้าน พร้อมผุดไอเดียเล็งนำขบวนรถเก่าแปลงเป็นร้านอาหาร-ร้านกาแฟ สร้างรายได้

ปิดจ๊อบ 9 ปีที่รอคอย! รฟท. ลงนาม “กิจการร่วมค้า SFR” จัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน วงเงิน 6.52 พันล้าน ทยอยส่งมอบ 20 คันแรก ภายใน 540 วัน ทดแทนหัวรถจักรดีเซลเก่า-เสริมทัพให้บริการทางคู่ ด้าน “ผู้ว่า รฟท.” ลั่น! ถือเป็นข่าวดี-ประวัติศาสตร์การรถไฟฯ พร้อมเล็งอัพเกรดขบวนรถผู้โดยสาร พ่วงเพิ่มมูลค่าขบวนเก่า ผุดไอเดียนำไปทำร้านอาหาร-ร้านกาแฟ สร้างเอกลักษณ์รถไฟไทย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (31 ส.ค. 2563) รฟท. ได้ลงนามจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electronic Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน ร่วมกับกิจการร่วมค้า SFR ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด) และบริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูล ด้วยข้อเสนอด้านราคาต่ำสุด 6,529 ล้านบาท จากกลาง 6,562 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 0.50%

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผู้ชนะประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอ โดยหลังจากการลงนามในวันนี้แล้ว กิจการร่วมค้า SFR จะต้องส่งมอบหัวรถจักรทั้งหมดภายใน 915 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญาซื้อขายหรือวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก รฟท. แบ่งเป็น 2 งวด ประกอบด้วย งวดแรก 20 คันแรกภายใน 540 วัน และงวดที่ 2 ส่งมอบอีก 30 คันที่เหลือภายใน 915 วัน

“การลงนามในวันนี้ ถือเป็นอนาคตและเป็นข่าวดีของการรถไฟฯ โดยเป็นการจัดซื้อล็อตที่ใหญ่ที่สุด ตั้งแต่มีรถไฟไทย นับเป็นอีก 1 ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับการจัดซื้อในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนที่เสนอไว้ 50 คัน เพื่อทดแทนหัวรถจักรดีเซลเก่า ที่ รฟท.ใช้มานาน 30-50 ปี รวมถึงนำมาให้บริการในเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมถึงเส้นทางรถไฟอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้การเดินรถมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน และจะตรงเวลามากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้รถจักรเก่าเสียบ่อย และไม่พอใช้ ถ้ารถจักรไม่สมบูรณ์ ก็ไม่อยากเอาออกมาให้บริการประชาชน เนื่องจากจะเสียเวลา” นายนิรุฒ กล่าว

นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการพัฒนาการให้บริการประชาชนนั้น รฟท. อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการจัดหารถดีเซลรางไฟฟ้า จำนวน 184 คัน เพื่อนำมาให้บริการทดแทนรถเก่าที่มีอยู่ ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนที่จะดำเนินการตามแผนต่อไป นอกจากนี้ ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. รวมถึงนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาการให้บริการ และให้ รฟท. กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้ โดยในตอนนี้ รฟท. จึงมีแผนในการบริหารจัดการขบวนตู้โดยสาร รวมถึงห้องน้ำระบบปิด เพื่อพัฒนาการให้บริการ

ขณะเดียวกัน รฟท. ยังเตรียมพิจารณาปรับปรุง (รีโนเวท) ขบวนรถเก่า เพื่อนำมาให้บริการ โดยหากพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถปรับปรุงได้แล้วนั้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะนำขบวนรถเก่าไปหามูลค่าเพิ่ม โดยการนำไปทำเป็นร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ เพื่อสร้างเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของ รฟท. นอกเหนือจากการนำไปตัดบัญชีและจำหน่ายเป็นเศษเหล็ก แต่ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ทั้งนี้ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในเรื่องการตัดบัญชีและการหารายได้เพิ่ม โดยมอบหมายให้นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน รฟท. เป็นประธานคณะทำงาน

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า สำหรับการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electronic Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คันนั้น เป็นการประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยเป็นงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติมาแล้วตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งใช้เวลารวมมาแล้วถึง 9 ปี กว่าที่จะมีการลงนามในวันนี้ ถือว่าเป็นโครงการที่มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ขณะที่ ในส่วนของบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นเอกชนที่เคยชนะการประมูลโครงการจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาทมาแล้วในปี 2556