‘วิลาศ’ อดีต สส.กทม. จี้ มท.1-ปลัดมหาดไทย เร่งเคลียร์ปมยื้อสรรหา ‘ผู้ว่า กปภ.’

“วิลาศ” อดีต สส.กทม. ไล่บี้ มท.1-ปลัดมหาดไทย เร่งแสดงความโปร่งใส ปมยื้อสรรหา “ผู้ว่า กปภ.” นานนับครึ่งปี พร้อมรอจับตา ลั่น! หวังเขี่ยคู่แข่งพ้นทางคนในคาถา ด้าน “พีรกันต์” ยันเคลียร์ตนเองโปร่งใสหมดแล้ว พร้อมทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร กรุงเทพมหานคร อดีตประธานคณะกรรมการ ปปช. สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการติดตามผลการสรรหา ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่เปิดสรรหามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และคณะกรรมการสรรหาที่มี พลโท พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ได้เสนอผู้ที่ได้คะแนนจากการแสดงวิสัยทัศน์เรียบร้อยแล้ว แต่กลับพบว่านายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ กปภ. กลับไม่นำเข้าสู่พิจารณาในการประชุมบอร์ดกปภ.ครั้งแล้วครั้งเล่า นับจนบัดนี้เกือบครึ่งปีแล้ว

สำหรับกระบวนการสรรหาผู้ว่า กปภ.ระบุว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ต่อมาขยายเวลาถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากมีผู้สมัครรายเดียว โดยพบว่าหากเทียบกับหน่วยต่างๆไม่ว่าจะเป็น การประปานครหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเปิดการสรรหาขึ้นในภายหลังกปภ. กลับได้ตัวผู้นำองค์กรเกือบครบทุกหน่วยแล้ว แตกต่างจากกปภ. ที่ยังยื้อนานเกือบครึ่งปี จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเพราะเหตุใด ทั้งๆที่ได้คะแนนผู้ผ่านการสรรหาเรียบร้อยแล้วแต่กลับไม่นำเข้าพิจารณาในบอร์ดกปภ. ตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา

“จึงชวนให้คิดได้ตามที่หลายคนสงสัยว่ามีการล็อคตัวผู้สรรหาบางคนไว้แล้ว ซึ่งเป็นคนที่คณะกรรมการบอร์ดสั่งได้ โดยมุมมองส่วนตัวแล้วเห็นว่าภายในกปภ. มีหลายโครงการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใส เกิดการทุจริตขึ้น ดังนั้นจึงต้องการให้ได้คนทำหน้าที่ผู้ว่าการกปภ.คนใหม่เร่งเข้ามาสางปมทุจริตเหล่านี้โดยเร็ว เนื่องจากมีการฟ้องร้องต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไว้หลายเรื่อง แม้ผู้สมัครบางรายเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการก็ตาม ดังนั้นหากบอร์ดยังยื้อต่อไปตนเห็นว่าจะเกิดผลเสียมากกว่า” นายวิลาศ กล่าว

นายวิลาศ กล่าวต่ออีกว่า ประการสำคัญหากจะพัฒนา กปภ. ด้วยการลดทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ จะต้องได้ตัวผู้ว่าการ กปภ.ที่มีฝีมือเข้าไปแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต้องได้ตัวในเร็ววันนี้ มากกว่าจะยื้อให้เสียเวลาโดยสูญเปล่า มุมมองส่วนตัวแล้วยังเห็นว่าเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจากหน่วยงาน กปภ. มีเรื่องทุจริตหลายเรื่อง และยังมีเอกชนบางรายใช้เส้นสายผ่านทางฝ่ายการเมืองฝังรากลึกมานาน แม้ว่า กปภ. จะอยู่ในการกำกับดูแลของนายทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ในบทบาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่กลับพบว่ามีบทบาทใน กปภ. น้อยมาก โดยการบริหารจัดการ กปภ. จะขึ้นตรงกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหลัก

ดังนั้น จึงเป็นห่วงว่าหากกรรมการบอร์ด กปภ. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ มท.1 ยังยื้อการสรรหาเพื่อจะเอาคนของตนเองขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ว่าการ กปภ.ให้ได้นั้น หากเป็นคนในขึ้นมาทำหน้าที่จะไปอยู่ใต้อาณัติกระบวนการโกงมโหฬารของกปภ. อีกก็จะแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นใน กปภ. ไม่ได้ แต่เท่าที่ทราบมาว่าคะแนนที่ชนะจะเป็นผู้สมัครสรรหาจากคนนอก กปภ. ซึ่งผ่านคณะกรรมการสรรหาไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 น่าจะมีประกาศผ่านสื่อให้ทราบด้วยเพื่อความโปร่งใสจริง อีกทั้งเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดจะมีการนำเสนอเอกสารแนบไปด้วย

“ในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 จะมีการประชุมบอร์ด กปภ.ซึ่งมีวาระการพิจารณาผลการสรรหาผู้ว่าการ กปภ.ระบุเอาไว้ด้วยแล้วนั้นมีลุ้นว่า มท.1 และประธานบอร์ด กปภ.จะเอา-ไม่เอาผลการสรรหาครั้งนี้ แต่หากวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เรื่องยังไม่ได้นำเข้าพิจารณาบอร์ด กปภ.อีก บอกไว้ที่นี้เลยว่าเพราะเห็นว่ามีความไม่ชอบในหลายประการ ดังนั้นหากบอร์ด กปภ. ยังคิดจะยื้อกรณีเห็นชอบอีกจะเป็นการเสียโอกาสการพัฒนาของกปภ. โดยเปล่าประโยชน์ เป็นที่น่ารังเกียจมาก ทั้งๆ ที่เปิดสรรหามาก่อนหน่วยอื่นๆ” นายวิลาศ กล่าว

ด้านนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และผู้อำนวยการฝ่ายขนส่งทางอากาศของสายการบินไทยแอร์เอเชีย หนึ่งในผู้สมัครสรรหาผู้ว่า กปภ. กล่าวว่า ยืนยันว่า ณ วันนี้คดีความที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เคลียร์ความถูกต้องชัดเจนแล้ว แต่ก็มีคนพยายามจะนำมาโยงในการพิจารณาครั้งนี้ ซึ่งตนไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด มั่นใจว่าคณะกรรมการสรรหาพิจารณาตามเกณฑ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบอร์ด กปภ. ว่าจะเคาะความชัดเจนเรื่องนี้เมื่อไหร่

“ทราบว่ารองผู้ว่าการคนใน หนึ่งใน 3 ผู้สมัครสรรหามีความพยายามสมัครมาแล้วหลายครั้ง ส่วนปัจจุบันตนมาจากเลขาธิการกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฏร เป็นกรรมการในไดเรคเตอร์พูล ดังนั้นหากพิจารณาจากโปรฟายน์ผลงานมั่นใจว่าจะดีกว่าทั้ง 2 รายอีกด้วย โดยเฉพาะผลงานด้านรายได้องค์กรรวมรายปีที่แอร์เอเชียมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังผ่านประสบการณ์บริหารที่หลากหลายกว่า ทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ มั่นใจทำหน้าที่ไม่ด้อยกว่ากัน ดังนั้นจึงเข้าใจว่าทั้ง 3 รายมีโอกาสทั้งหมดแต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในกปภ.และกระทรวงมหาดไทยว่าจะให้โอกาสตนเข้าทำหน้าที่หรือไม่ ส่วนกรณีเรื่องยื้อสรรหาหายไปนานไม่ทราบว่าสาเหตุเพราะอะไรกันแน่ ทั้งๆที่เรื่องไม่สลับซับซ้อนเลย” นายพีรกันต์ กล่าว