‘การรถไฟฯ’ เตรียมเปิดใช้ทางคู่ ‘ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย’ 106 กม. ภายในเดือนนี้ เชื่อมขนส่งสินค้าสู่ภาคตะวันออก-EEC ลดต้นทุนโลจิสติกส์สนองนโยบายรัฐ

การรถไฟฯ เตรียมเปิดใช้ทางคู่ “ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย” 106 กม. ภายในเดือนนี้ เชื่อมขนส่งสินค้าสู่ภาคตะวันออก-EEC ลดต้นทุนโลจิสติกส์สนองนโยบายรัฐ พร้อมเตรียมชวนเอกชนเช่าพื้นที่ CY “สถานีบ้านกระโดน-สถานีท่าพระ” คาดเปิดยื่นซองภายในเดือนหน้า

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ เตรียมเปิดใช้เส้นทางโครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร (กม.) ภายในเดือนนี้ (ส.ค. 2563) โดยจะมีการเชิญนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเป็นประธานในพิธีเปิดฯ ด้วย ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟทางคู่ดังกล่าว ถือเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งตามนโยบายของรัฐบาลพร้อมทั้งเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเชื่อมต่อไปยังโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 14 ชั่วโมง เนื่องจากไม่ต้องเข้ารอหลีกขบวนรถโดยสาร จึงสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน จากการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่มีการก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) ใหม่ 2 แห่ง คือ สถานีบ้านกระโดน ที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมของการเปลี่ยนโหมดขนถ่ายสินค้าของนิคมในจังหวัดนครราชสีมา และสถานีท่าพระ ที่ตั้งอยู่ก่อนถึงสถานีขอนแก่นประมาณ 8-9 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายกับ CY ที่สถานีบ้านกระโดน โดยหวังให้จุดดังกล่าวเป็นจุดรวมสินค้าจากทางอีสานเหนือ เช่น มุกดาหาร นครพนม เป็นต้นนั้น การรถไฟฯ เตรียมประกาศเชิญชวนเอกชนเช่าพื้นที่ CY เพื่อเปลี่ยนโหมดการขนส่งระบบราง แบ่งเป็น สถานีบ้านกระโดน พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร จำนวน 3 บล็อค และสถานีท่าพระ พื้นที่ 9,000 ตารางเมตร จำนวน 4 บล็อค โดยคาดว่าจะมีการเปิดประกาศเชิญชวนในเดือนนี้ และให้ยื่นซองภายใน 30 วัน หรือภายใน ก.ย. 2563 ก่อนที่จะประกาศผลเอกชนผู้ชนะในช่วง ต.ค.นี้ และเข้าใช้พื้นที่ภายใน พ.ย. 2563

“สำหรับสถานีบ้านกระโดน เพิ่งเปิดใช้งานในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้มีการใช้ในการขนส่งสินค้า เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักและเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวได้มีการแบ่งสัญญาออกเป็น 2 ส่วนคือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ โดยมีความไม่ชัดเจนในการดำเนินการ จึงส่งผลให้มีความล่าช้า 2 ปี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากเส้นทางดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางรางได้มากขึ้น โดยสามารถพ่วงขบวนขนส่งสินค้าได้ประมาณ 30 แคร่ต่อเที่ยว” นายฐากูร กล่าว

นายฐากูร กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electronic Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,562 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SFR ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด) และ บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลนั้น คาดว่าคันแรกจะส่งมายังประเทศไทยภายใน 2 ปีนับจากนี้

นอกจากนี้ การรถไฟฯ เตรียมเสนอจัดซื้อโบกี้บรรทุกสินค้า (แคร่) จำนวน 1,000 คัน เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ได้พิจารณาอนุมัติแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการฯ ไปยังกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ต่อไป ทั้งนี้ การจัดซื้อแคร่ดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ลดการใช้รถจักรกับรถพ่วงลง