‘ทางหลวงฯ’ เร่งปิดจ็อบสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 ‘บึงกาฬ-บอลิคำไซ’ คาดตอกเสาเข็มปีนี้ แล้วเสร็จภายในปี 66

“ทางหลวงฯ” เร่งปิดจ็อบเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมา สร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” คาดลงนามสัญญา 1-2 ภายในเดือนนี้ ฟากสัญญา 3 ช่วง ก.ย. 63 ก่อนลุยตอกเสาเข็มปีนี้ แล้วเสร็จปี 66 หนุนการเดินทาง-ขนส่ง พร้อมท่องเที่ยว 2 ประเทศ

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ที่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทย และ สปป.ลาว โดยการก่อสร้างสะพานจะแบ่งกึ่งกลางสะพานในส่วนไทยจะรับผิดชอบค่าก่อสร้างเฉพาะฝั่งไทย ส่วน สปป. ลาวจะรับผิดชอบค่าก่อสร้างของ สปป.ลาว นั้น มีแนวทางดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย วงเงิน 831 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน วงเงิน 883 ล้านบาท และ สัญญาที่ 3 ตัวสะพาน งบประมาณรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็นฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และ ฝั่งลาว วงเงิน 476 ล้านบาท โดยได้กู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

ในส่วนของสัญญาที่ 1 และ สัญญาที่ 2 ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างการขออนุมัติเรื่องวงเงินก่อสร้าง คาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะได้ในช่วง ส.ค. 2563 ส่วนสัญญา 3 ตัวสะพาน จะเปิดประกวดราคาภายในเดือนนี้ จากนั้นลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ในเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งทั้ง 3 สัญญาจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2563 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จปี 2566 และเปิดให้บริการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศได้

รายงานข่าวจาก ทล. ยังระบุอีกว่า โครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) มีระยะทาง 16.18 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ถนนฝั่งไทยยาว 13 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวง หมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร

จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาวสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว