“นิด้า” ปรับเนื้อหาเข้มข้น เสริมแกร่งไอที!!สร้างนักวิเคราะห์ตัวจริงรับลูก”สมาร์ทโลจิสติกส์”

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ การปรับตัวรับกระแสความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรไหนที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีถือว่าเป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมีบทบาทไม่แพ้ธุรกิจอื่น

การสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากร เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงเป็นบทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษา เช่นเดียวกับหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงได้ปรับรายวิชาใหม่ทางด้านเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับจุดยืนของสถาบันที่ต้องการผลิตบุคลากร ด้านโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญและแม่นยำ ด้านวิเคราะห์

               รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจ์นภา อมรัชกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางสาขาได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ให้มีเนื้อหาทันสมัยขึ้น จึงได้มีการปรับ 2 วิชาใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับอุตสาหกรรม 4.0 คือ วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับโซ่อุปทานดิจิทัล ปรับเพื่อให้เหมาะกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เป็นข้อมูลที่มีความรวดเร็ว เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันและวิชา สมาร์ทโลจิสติกส์ จะเน้นการทำระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้กับคลังสินค้า ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

ซึ่งจุดเด่นของสาขาการจัดการโลจิสติกส์ของนิด้า คือ เรื่องของสถิติ การวิเคราะห์ และในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการจัดการข้อมูลจะมีความสำคัญมากขึ้น เราพยายามนำเหตุผลที่เลือกเรื่องของโลจิสติกส์ การวิเคราะห์ เพราะคนที่ทำงานทางด้านวิเคราะห์ ในธุรกิจโลจิสติกส์นั้นมีจำนวนน้อย ซึ่งการที่นักศึกษาเรียนเรื่องของสถิติด้านโลจิสติกส์นั้นจะสามารถเข้าไปช่วยเติมเต็มความรู้ ความเข้าใจของนักศึกษา จะช่วยให้การบริหารงานได้รวดเร็วและ คิด วิเคราะห์ ได้ดีขึ้น

              ผศ.ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ รองคณบดี ฝ่ายบริหาร และอาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปดูงานต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ถือว่ามีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่าไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดของพื้นที่ในเมือง ทำให้จำเป็นต้องใช้พื้นที่แนวตั้งร่วมกับการใช้ระบบอัตโนมัติและ การจัดการข้อมูลคลังสินค้า ช่วยในการเคลื่อนย้ายสินค้าออกชั้นวางได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ดังนั้นการจัดการ คลังสินค้า จึงมีมิติเพิ่มขึ้นในแนวตั้ง แนวสูง ซึ่งต้องมีระบบการจัดเก็บ และ เรียกคืนวัสดุอัตโนมัติ (AS/RS) มีการขยับ ไปมาซึ่งสามารถบริหารจัดการพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้ง ในอนาคตจะมีเรื่องของ 5G เข้ามา เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงต้องทำการปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัย จากเดิม ที่มีคลังสินค้าธรรมดา ก็จะเป็นคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart warehouse) ก็จะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย

นอกจากนี้ ยังมีวิชาเลือก ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มเติมอยู่บ้าง โดยปรับให้ทันสมัยมากขึ้น เข้ากับเทคโนโลยี 4.0 และมีข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีการผสมผสาน เพราะมีการ นำดาต้ามาใช้มากขึ้น โดยเรามีวิชาให้เลือกหลากหลาย โดยสามารถเลือกได้ 3 วิชาเพื่อช่วยให้การจัดการด้าน โลจิสติกส์ดีขึ้น

ในส่วนของวิชาหลัก มี 4 วิชาได้แก่ 1.การ-จัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) 2.สมาร์โลจิสติกส์ (Smart Logistics) 3.การจัดการขนส่งและเครือข่ายการกระจายสินค้า (Transportation and Distribution Network Management 4.การหาค่าที่เหมาะที่สุดของโซ่อุปทาน (Supply Chain Optimization) แม้ว่าเทคโนโลยีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มากน้อยแค่ไหน แต่เรื่องของพื้นฐานยังคงมีอยู่ แนวคิดต้องเป็นแนวคิดเดิมแต่เอาเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วย ซึ่งเป้าหมายของหลักสูตรนี้ คือต้องการให้นักศึกษาที่จบจากนิด้าเป็นนักวิเคราะห์ ด้านโลจิสติกส์ สามารถวิเคราะห์ วางแผนในการจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนได้

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียน การสอน และให้นั กศึกษาได้สัมผัสกับบรรยากาศจริง ในปี 2564 นิด้าจะสร้างห้องแล็ปด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ถึงกระบวนการจริง เห็นภาพที่มีความชัดเจนขึ้น เพราะอย่างน้อยเขาจำเป็นที่จะต้องรู้ว่างานด้านโลจิสติกส์จากของจริงมีกระบวนการอะไรได้บ้าง เช่น โดรน หรือแล็ปที่ขึ้น-ลงอัตโนมัติ เป็นห้องปฎิบัติการ ซึ่งเหมือนกับเรื่องของสมาร์ทโลจิสติกส์ จะได้เห็นการเคลื่อนย้ายโดยอัตโนมัติ ใช้คนน้อยลง แต่จะมีการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น ทั้งนี้ เป็นไปตามเทรนด์ของโลจิสติกส์ ที่จะเข้าไปสู่รูปแบบการเป็น สมาร์ทโลจิสติกส์

ไม่เพียงแค่นี้ในปี พ.ศ.2564 ทางคณะ ได้เตรียมเปิดหลักสูตร โลจิสติกส์ระดับปริญญาเอก โดยต่อยอดจากระดับปริญญาโท ซึ่งเน้นโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เหมือนเดิมแต่อยากให้มีความพิเศษ และมีความสอดคล้องกับการสร้างบุคคลากรด้าน โลจิสติกส์อย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเนื้อหาเล็กน้อย

              อ.ดร.อัครนันท์ พงศธรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะ สถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 2 วิชาที่เปิดใหม่มีความสำคัญคือ ปัจจุบันโลจิสติกส์มีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว และตัวระบบ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ได้ก้าวเข้ามามีความสำคัญที่จะบริหารระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ออกแบบ ในวิชาจะได้รู้จักองค์ความรู้ทางด้านไอที มันจะ เข้ามาบูรณาการในศาสตร์โลจิสติกส์ส่วนไหน ได้บ้าง

โดย Keyword หนึ่งที่สำคัญ คือ การที่ เราจะทำการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ (Real time) ซึ่งข้อมูล (Data) จะก้าวเข้ามามีความสำคัญ มากขึ้น ดังนั้น หลักสูตรใหม่ ได้ทำการออกแบบ นอกจากนักศึกษาจะทราบเรื่องของอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ในการติดตาม tracking และ tracing ข้อมูลกระบวนการทางธุรกิจแล้ว และยังต้องรู้จัก ในการประยุกต์ใช้ “ระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยี” การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ

“การบูรณาการองค์ความรู้ด้านไอที และเทคโนโลยีการจัดการคลังสินค้าที่เหมาะสม ประกอบกับทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่นข้อมูล IOT และเซนเซอร์ต่างๆตลอดจนทักษะการเขียนโปรแกรม จะเปลี่ยนโลจิสติกส์ให้เป็น Smart Logistics ในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ทางหลักสูตรจึงได้มุ่งมั่นที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับสมาร์ทโลจิสติกส์ในอนาคต”