‘อาคม’ เร่งแผนรันเวย์ 4 หมื่นล้าน ดันสนามบินดอนเมือง ‘สู่ Airport 4.0’

‘อาคม’ สั่งขยับแผนลงทุนรันเวย์สุวรรณภูมิ 4 หมื่นล้านเร็วขึ้นเกือบ 10 ปี หวังสู้วิกฤติสนามบินแออัด เล็งนำร่องดอนเมืองก้าวสู่สนามบิน 4.0 ลดต้นทุน 30% ขณะเดียวกันดัน บวท.ลุยปรับห้วงอากาศรับเที่ยวบิน 2 ล้านเที่ยวต่อปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่า หลังจากหารือร่วมกันแล้ว IATA ได้เสนอให้ประเทศไทยเร่งเตรียมแผนรองรับการเติบโตของตลาดการบินในอนาคต โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ ทสภ. ที่จะมีปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคน ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ไทยยังต้องเร่งนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยบริหารสนามบินเพื่อแก้ปัญหาความแออัดตลอดจนพัฒนาห้วงอากาศให้รองรับปริมาณการจราจรทางการบินที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้รับข้อเสนอพร้อมสั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปเร่งแผนลงทุนพัฒนาก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 และรันเวย์ที่ 4 วงเงินลงทุนรวม 4 หมื่นล้านบาท ไปพร้อมกันภายในระยะเวลา 4-5 ปีนับจากนี้หรือภายในปี 2565 ตามแผนพัฒนาเฟส 3 โดยเฉพาะการปรับไทม์ไลน์จากแผนเดิมที่กำหนดว่ารันเวย์ที่ 4 จะเปิดให้บริการได้ในปี 2573 เพราะอยู่ในแผนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 4 สำหรับวงเงินลงทุนแบ่งเป็น ค่าก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 และ 4 รวม 2 หมื่นล้านบาทและค่าชดเชยเส้นเสียงอีก 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่าการก่อสร้างและเปิดบริการควบคู่กันไปจะทำให้สามารถบริหารปริมาณการจราจรทางอากาศได้ดีกว่าทยอยก่อสร้างไปทีละโครงการ ตลอดจนยังสามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดในปัจจุบัน ทั้งเรื่องความแออัดภายในสนามบิน ปริมาณหลุมจอดไม่เพียงพอ และเรื่องสล็อตเที่ยวบินอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ ทอท.ไปลดระยะเวลาการซ่อมรันเวย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงระยะเวลาการซ่อมทางขับคู่ขนาน (แท็กซี่เวย์) ซึ่งควรจะ
ต้องเร่งให้แล้วเสร็จไม่เกินระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้

สำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบินตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น นายอาคม กล่าวว่า จะเริ่มจากสนามบินดอนเมืองเป็นแห่งแรก เนื่องจากสนามบินดังกล่าวมีขีดจำกัดด้านการรองรับอยู่ที่ 40 ล้านคน ดังนั้นหลังจากการพัฒนาเฟส 3 วงเงิน 3.2 หมื่นล้านแล้วเสร็จ จะต้องเข้าไปวางระบบไอทีและเทคโนโลยีในการบริหารสนามบิน ซึ่ง IATA พบว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจะช่วยลดต้นทุนลงได้ 30%

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้จะเน้นใน 3 ส่วน ได้แก่ งานบริการสนามบิน งานบริการลูกค้าของสายการบินและงานตรวจคนเข้าเมือง อาทิ การเชื่อมต่อข้อมูลผู้โดยสารเป็นต้น ในส่วนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพห้วงอากาศนั้น ได้สั่งการให้ ทอท.ไปหารือร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. เพื่อพัฒนาการบริหารห้วงอากาศแบบใหม่ ซึ่ง บวท. ได้เสนอแนวทางบริหารจราจรทางอากาศแบบ One-way Route ที่กำหนดให้เที่ยวบินต้องบินทิศทางเดียวกันในเส้นทางการบินเพื่อลดการเสียเวลาบนท้องฟ้าและลดปริมาณการล่าช้าของเที่ยวบิน รวมถึงเพิ่มปริมาณการรองรับเที่ยวบินได้ 1 เท่าตัว เป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีจากเดิม 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี และรูปแบบดังกล่าวนั้นจะทำให้เครื่องทุกลำบินไปในทิศทางเดียวกันลดปัญหาการบินสวนและการบินตัดห้วงอากาศ

ด้านนายคอนราด คลิฟฟอร์ด รองประธานส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากเรื่องตลาดการบิน มั่นใจว่าจะเป็นจุดศูนย์กลางการบินอีกแห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ตลาดการบินเติบโตมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสามสนามบินหลักของไทยนั้น ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถการรองรับภาคพื้นและจราจรทางอากาศ โดยเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีเข้าบริหารจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจการบินได้อย่างมากทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและความคล่องตัวของปริมาณการจราจร จากการหารือร่วมกันที่ผ่านมาได้แนะนำแนวทางการพัฒนาสนามบินของแต่ละประเทศที่ประสบความสำเร็จให้กับกระทรวงคมนาคมไปหลายวิธี และยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทย