‘สุรเชษฐ์’ ฟิตจัด! ประเดิมงานผู้ว่า กทพ.คนใหม่ทันที ขอเวลา 3 เดือนศึกษาวัฒนธรรมองค์กร เร่งสางปัญหาทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง พ่วงสรุป N2 พร้อมเดินหน้านโยบายยกเลิกไม้กั้น

“สุรเชษฐ์” ฟิตจัด! ประเดิมงานผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่ทันที หลังลงนามสัญญาจ้างวันนี้ (3 ส.ค. 63) ลุยสางปัญหาทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง สัญญาที่ 1 และ 3 พร้อมเร่งถกร่วม ม.เกษตรฯ ก่อนหาข้อสรุปทางด่วน N2 พ่วงรับลูก “ศักดิ์สยาม” ยกเลิกไม้กั้น วางเป้าแล้วเสร็จภายในปีนี้ และขอเวลาศึกษาวัฒนธรรมองค์กร 3 เดือน ก่อนจัดทัพเดินหน้างาน ร่วมพนักงาน-สหภาพฯ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังลงพิธีนามในสัญญาจ้างผู้บริหารตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. โดยมีนายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เป็นผู้ร่วมลงนามวันนี้ (3 ส.ค. 2563) ว่า จากประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. คนใหม่นั้น ตนรู้วัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในระหว่างนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการเรียนรู้วัฒนธรรมของ กทพ. จากนั้นจะเดินหน้าบริหารจัดการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อร่วมเดินหน้าทำงาน โดยในฐานะที่ตนเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะนำสิ่งใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับ กทพ.

“การเป็นคนนอกเข้ามาทำงาน​ที่ กทพ. ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจ ผมมีความจริงใจและความตั้งใจ โดยในเรื่องของการจัดทัพองค์กรก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมจะประสานงานระหว่างคนในและคนนอกให้เข้ากันพอดี ไม่ล่วงล้ำก้าวเกิน ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา​ มีการพูดคุยพนักงาน เพื่อทำความรู้จักและรับฟังปัญหาในเบื้องต้นแล้ว​ และวันนี้ (3 ส.ค. 2563) ผมจะไปแสดงวิสัยทัศน์และทำความเข้าใจกับสหภาพฯ ด้วย ผมมั่นใจว่า จะทำให้เป็นองค์กรให้ได้ประโยชน์อันดับ 1 ของประเทศ ถ้าพนักงานเชื่อมั่นก็จะให้ความร่วมมือ พร้อมยืนยันว่า​ การทำงานไม่มีพวกพ้อง​ และต้องการสร้างผลงาน จะทำให้การทำงานได้รับการยอมรับและพร้อมทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานฯ กทพ. และทุกคนในองค์กร” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับงานที่จะดำเนินการเร่งด่วน​ คือ การแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกกรุงเทพมหานคร ในสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน–เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร (กม.) และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม.โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความของกรมบัญชีกลาง ซึ่งตนจะพยายามให้ได้ข้อยุติ ในระหว่างนี้ขอศึกษาที่มาที่ไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการะบบทางด่วนขั้นที่ 3 (N2) พร้อมกับการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)​ ที่ยังมีปัญหาเนื่องจากมีแนวเส้นทางผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ส่วนตัวมองว่า​ เส้นทางดังกล่าวถึงแม้จะไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการก่อสร้าง​ โดยเฉพาะในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่มีผลตอบแทนทางด้านสังคมที่ดี ซึ่งพบว่าประชาชนผู้ใช้ทาง และระบบขนส่งจะได้รับประโยชน์ และแม้​ กทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมองเรื่องของผลกำไร แต่โครงการนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ ซึ่งในวันนี้จะไปหารือร่วมกับผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคาดว่าในเร็วๆ นี้ จะได้คำตอบเรื่องดังกล่าว

“ที่ผ่านมาโครงการนี้พยายามทำมาถึง 20​ ปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ โดยหลังจากนี้จะไปหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้งโดยมีเพียง 2 แนวทาง ทางแรก คือ ไม่ทำ และทางที่ 2 คือ การเดินหน้าต่อไปโดยไม่แตะปัญหา แม้เส้นทางนี้หากทำสำเร็จกทพ.จะขาดทุน แต่เมื่อประชาชนได้ประโยชน์ก็ต้องทำอย่างเต็มที่ โดยจะเอาข้อเท็จจริงไปหารือ เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

สำหรับโครงการอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย และจะเร่งดำเนินการ เช่น​ โครงการขยายทางพิเศษ (ทางด่วน) บูรพาวิถี เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 รวมถึงโครงการอุโมงค์กระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยจะเร่งศึกษาและทำความเข้าใจ พร้อมทั้งจะมีการลงพื้นที่ เพื่อไปพิจารณาปัญหา

ขณะที่ ในส่วนงานที่เป็นนโยบายสำคัญของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องการยกเลิกระบบไม้กั้นช่องผ่านทางด่วน ตามที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ยกเลิกไม้กั้นในเส้นทางมอเตอร์เวย์ไปแล้วนั้น กทพ.จะพยายามเร่งรัดงาน  เพื่อให้ระบบดังกล่าวเกิดการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยพร้อมปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงคมนาคม และจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการให้การดำเนินโครงการแล้วเสร็จภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โครงการดังกล่าว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้พนักงานประจำด่านจะลดลง แต่ได้แจ้งพนักงานไว้แล้วว่า ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนให้ไปทำตำแหน่งอื่น พร้อมยืนยันว่าไม่มีนโยบายในการเลิกจ้าง

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการหารายได้ให้กับ กทพ. ซึ่งได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนั้น จะเดินหน้าขยายโครงข่าย เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ กทพ. ที่ได้เวนคืนมาแล้ว นอกจากนี้จะลดรายจ่ายส่วนต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น กระบวนการซ่อมบำรุง เป็นต้น

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) กทพ.​ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ กทพ.ได้ผู้ว่าการฯ คนใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่องค์กรต้องการผู้นำผลักดันงานในหลายโครงการ ซึ่งจากประวัติของนายสุรเชษฐนั้น เป็นที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะในส่วนที่สร้างประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เนื่องจากมีผลงานจากการทำงานขับเคลื่อนหลายโครงการในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอยู่ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะนำมาใช้กับงานที่ กทพ.ได้

ขณะที่ ภารกิจของ กทพ.ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการเรื่องสัญญาทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาในการตีความของกรมบัญชีกลาง โดยปัญหาหลัก คือ นิยามการจำกัดความ และการตีความ การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ​ ซึ่งต้องทำความความชัดเจนก่อนเปิดให้มีการประมูลโครงการ อีกทั้งยังมี โครงการขยายทางพิเศษ (ทางด่วน) บูรพาวิถี เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 รวมถึงโครงการอุโมงค์กระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต รวมถึงโครงการเชื่อมต่อทางขึ้น-ลง สู่การท่าเรือกรุงเทพฯ และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญในการจัดการองค์กร โดยเฉพาะการเร่งสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งของรองผู้ว่าการฯ  ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งที่ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง และในช่วงเดือน ก.ย. 2563 จะมีผู้เกษียณอายุราชการ โดยจะว่างลงอีก 2 ตำแหน่ง รวม 4 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายวางแผน, การก่อสร้าง, ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่ผู้ว่า กทพ.คนใหม่ ต้องหาบุคล​ากรให้ครบ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มที่