‘คมนาคม’ เคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (COVID-19) ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งหามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจซึ่งหดตัวอย่างมากให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกขึ้น กระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ส่วนที่ประชาชนได้ประโยชน์และเกิดการพัฒนาจริง ๆ ต้องรีบทำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงแนวทางของกระทรวงคมนาคมที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

คมนาคมเดินหน้าโครงการ เพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ

กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย 4 มิติ คือหน่วยงานทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ซึ่งตั้งแต่ที่ผมมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้ยึดหลักบริหารงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการไว้มาโดยตลอด พร้อมๆ กับการผสมผสานเพิ่มเติมนโยบายของตนในการเน้นสนองตอบความต้องการของประชาชนภายใต้สถานการณ์สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระดับภูมิภาค กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาถนนให้สามารถสัญจรได้สะดวก เชื่อมต่อหมู่บ้าน ชุมชน และต้องดำเนินการทั้งประเทศภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อสู่ถนนของกรมทางหลวง กลายเป็นโครงข่ายการคมนาคมขนาดใหญ่เชื่อมโยงแต่ละจังหวัดเข้าด้วยกัน

นอกจากนั้นในปี 2563 กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดพัฒนาโครงการทางบก อีกหลายโครงการ อาทิ โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 จากแยกต่างระดับบางขุนเทียนถึงเอกชัยจากทางหลัก 3 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร และขยายทางคู่ขนานจาก 2 ช่องจราจรเป็น 3 ช่องจราจร

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปกว่า 80 % นอกจากนี้ ยังมอบนโยบายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดมีการแก้ปัญหาด้านการคมนาคมแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น การพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP (Motorways + Rails) ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในรูปแบบใหม่ที่จะเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีความปลอดภัยที่สูงขึ้น และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐในระยะยาว

ส่วนนโยบายด้านคมนาคมทางน้ำ มีการเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือ รวมทั้งมีโครงการเชื่อมการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน โดยเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นได้จะสร้างความเจริญให้กับประเทศไทยอย่างมากและทำให้ประเทศไทยการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

ส่งเสริมยางพารามาใช้ผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ยกระดับรายได้เกษตรกรไทย

นอกจากการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมแล้ว กระทรวงคมนาคมยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงมอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ศึกษาหาแนวทางเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะการทำอย่างไรให้รถไม่ต้องวิ่งสวนกันบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งนำมาสู่แนวคิดการสร้างแบริเออร์กั้นกลางถนนแทน

โดยได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบท ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จนได้ต้นแบบ แท่งคอนกรีตหุ้มยางพารา (Rubber fender Barrier :RFB) หรือกันชนยางที่นำไปครอบบนแบริเออร์คอนกรีต สามารถป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ เพราะยางพารามีคุณสมบัติดีมาก สามารถรองรับแรงกระแทกจากแรงปะทะเมื่อใช้ความเร็วรถ 120 กม./ชม. จากเดิมแบริเออร์คอนกรีตรับได้ 90 กม./ชม. และเพื่อความมั่นใจเราได้ไปทดสอบที่ Korea Automotive Testing and Research Institute (KATRI) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานสากล ปรากฏว่าผลตรงตามที่เราทดสอบไว้ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นเสาหลักนำทางจากยางพาราธรรมชาติ (Rubber guide post : RGP) ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียหลักไปชนเสานำทาง โครงการ RFB และ RGP นอกจากลดความรุนแรง การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง ยังช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร เพราะกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะรับซื้อน้ำยางพาราโดยตรงจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สมาคม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งจะทำให้งบประมาณดำเนินการอยู่ในมือเกษตรกรไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราอีกด้วย

กระทรวงคมนาคมได้ทำบันทึกความตกลงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต และวางแผนการผลิตวัสดุด้านการจราจรทั้งสองชนิดให้ได้ตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ในปีงบประมาณ 2563 -2565 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะใช้ปริมาณน้ำยางพาราสดจำนวน 1,007,951 ตัน สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการผลิตทั่วประเทศ 62 แห่ง รวมสมาชิก 355,181 ราย  เกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1,420,724 คน

คมนาคมพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหลัง COVID-19

ในขณะที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 กระทรวงคมนาคมถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้คลี่คลายได้เร็วที่สุด เพราะการเดินทางของประชาชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อแพร่กระจาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข และกำชับทุกหน่วยงานตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งให้ดำเนินการอยู่บนมาตรฐานสาธารณสุข ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจคมนาคมขนส่งอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงคมนาคมก็ต้องดูแลทุกภาคส่วนทุกธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบต่อปัญหานี้ โดยด้านการบินได้มีนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ให้กับสายการบิน เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ค่าขึ้นลงอากาศยาน (landing)

ทางกระทรวงคมนาคมยินดีรับฟังเพื่อที่จะหาแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน และมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรื่องค่าโดยสารก็เชิญบรรดาผู้ประกอบการมาคุยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ ซึ่งการจะช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความสำคัญแรกในเรื่องของการไม่ให้มีการแพร่ระบาด เพราะฉะนั้นกฎ Social Distancing จะทำให้การประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงต้องมาดูกันว่าขนาดไหนที่ทุกฝ่ายรับได้ และรัฐจะสามารถเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง

 

ลดงบประมาณ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

ด้านงบประมาณประจำปี 2563 และ 2564 กระทรวงคมนาคมมีการปรับแผนงบประมาณ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีซึ่งให้ความสำคัญอันดับแรก คือ การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ดังนั้นโครงการใดที่ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างก็ใช้ชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อนำงบประมาณไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยปีงบประมาณ 2563 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมสามารถโอนเงินงบประมาณคืนรัฐบาลได้ทั้งสิ้น  8,598.8393 ล้านบาท

 

คมนาคมภูมิใจ รวมไทย สร้างชาติ 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินหน้าผ่านสถานการณ์เลวร้ายนี้ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเริ่มจากความเข้มแข็งภายในประเทศก่อน โดยการพึ่งพาตัวเอง สร้างตลาดให้ตัวเองที่สำคัญต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนในประเทศ ต้องทำให้คนในประเทศมีความเชื่อมั่นและนำมาซึ่งความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

ในอดีตการพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านการคมนาคม มักจะติดขัดในเรื่องของงบประมาณ  รัฐบาลก็ได้พยายามปลดล็อกในเรื่องเหล่านี้ เช่น การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อใช้เป็นแหล่งงบประมาณในการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ลดภาระการใช้งบประมาณแผ่นดิน

นอกจากนี้ อีกแนวทางซึ่งเป็นประโยชน์มากในเรื่องของงบประมาณและการบริหารจัดการ คือ การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP (Public-Private Partnership) เป็นการจัดสรรความรับผิดชอบระหว่างรัฐกับเอกชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และเราจะเริ่มจากการให้ความสำคัญของ Thai First คนไทย ผู้ประกอบการคนไทยต้องมาก่อน ความสามารถของคนไทยทำได้แค่ไหนก็ทำให้เต็มที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ“การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ส่วนที่ประชาชนได้ประโยชน์และเกิดการพัฒนาจริง ๆ ต้องรีบทำ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวทิ้งท้าย