แคร์รี แลม’ ให้คำมั่นฟื้นระเบียบสู่ฮ่องกง ยืนหยัดแถวหน้าการเงินนานาชาติ

รายงานจากสำนักข่าวซินหัว ระบุว่า แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน เผยถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินผนึกจุดแข็งของฮ่องกงและพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ฮ่องกงฟื้นตัวอีกครั้ง หลังผ่านช่วงเวลาแห่งความรุนแรงและความไม่สงบในรอบปีที่ผ่านมา

“ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดยังไม่ผ่านพ้น โดยปีที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสังคมฮ่องกงต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและเร่งด่วนในหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป้าหมายในงานของฉันอีก 2 ปีข้างหน้า คือการคืนความสงบเรียบร้อยและรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน” แลม กล่าว

 

การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย

กฎหมายใหม่ซึ่งผ่านการรับรองโดยสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนและประกาศใช้ในฮ่องกงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีความสำคัญต่อการปกป้องความมั่นคงของชาติในฮ่องกง และนำสันติภาพและความเป็นระเบียบกลับคืนมา ซึ่งแลมเห็นว่าการออกกฎหมายฉบับนี้ “มีความจำเป็นและเหมาะสมแก่เวลา” ทั้งนี้ ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมมาอย่างยาวนานตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2019 โดยเกิดการประท้วงและการชุมนุมกว่า 1,400 ครั้ง และเลยเถิดไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายและรุนแรง

“หลายคนบอกว่าฮ่องกงไม่ใช่สถานที่ที่พวกเขารู้จักอีกต่อไปแล้ว” แลม ชี้ว่า ผลกระทบที่เกิดกับฮ่องกงนั้นมากมายมหาศาลและยาวนาน เธอในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตการทำงานเพื่อสาธารณชนตลอด 40 ปี เมื่อมีการออกกฎหมาย รัฐบาลฮ่องกงก็มีภาระหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในส่วนของหลักนิติธรรมถูกเหยียบย่ำท่ามกลางความไม่สงบทางสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา นักการศึกษาบางคนถึงกับสั่งสอนว่าคนผู้หนึ่งสามารถฝ่าฝืนกฎหมายได้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมที่ตนเองกำหนด มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มารวมตัวประท้วงบนถนน ก่ออาชญากรรมรุนแรง จนกระทั่งถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี

แลม กล่าวว่า สถานการณ์ที่วุ่นวายเหล่านี้จำต้องกลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการปกป้องความมั่นคงของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงอธิบายให้สาธารณชนทราบถึงความสำคัญของความมั่นคงของชาติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่จำเป็นต้องกังวล

แลม ให้ความเห็นตรงกันข้ามต่อข้อกล่าวหาที่ว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติขัดแย้งกับหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกลางเคารพในความเป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และให้ความไว้วางใจต่อฮ่องกง

กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศรวมถึงประชาชนกว่า 1.4 พันล้าน แต่สิทธิในการกำกับดูแลส่วนใหญ่ถูกมอบให้แก่ฮ่องกง แลมยกตัวอย่างว่า “ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ จะมอบอำนาจในการจัดการเรื่องความมั่นคงแห่งชาติให้กับรัฐหรือเมืองต่างๆ หรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลย”

“เราได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลกลางให้แบกรับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่นี้ เราจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎหมายถูกนำมาใช้อย่างเห็นผล”

ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมเมื่อปีที่แล้ว ประเทศตะวันตกก็เข้ามาแทรกแซงกิจการในฮ่องกงมากขึ้น สหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อฮ่องกงอย่างโจ่งแจ้ง โดยลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายปกครองตนเองของฮ่องกง” เมื่อวันที่ 1 ก.ค.

แลมประณามรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ละเมิดบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมยืนยันว่าเธอไม่ได้กังวลกับการคว่ำบาตรแต่อย่างใด

สถานะของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของสหรัฐฯ และ “การคว่ำบาตรทางการเงินจะไม่เพียงแต่จะทำร้ายฮ่องกงเท่านั้น แต่บริษัทในสหรัฐฯ เองก็เจ็บตัวไปด้วย” แลมกล่าว

สหรัฐฯ ได้รับเงินเกินดุลเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปีจากการค้าขายสินค้ากับฮ่องกง และสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ก็ดำเนินธุรกรรมส่วนใหญ่ในตลาดทุนของฮ่องกงด้วย ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังพยายามใช้มาตรการคว่ำบาตรสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนในฮ่องกง แต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจะผนวกรวมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน

“เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนักลงทุนต่างประเทศและชาวฮ่องกงจะพบว่าไม่มีอะไรจำเป็นต้องกังวลเลย” แลม กล่าว

ข้อดียังคงอยู่

ความวุ่นวายทางสังคมที่ยืดเยื้อ รวมถึงการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบสองต่อที่ทำให้จีดีพีของฮ่องกงลดลงร้อยละ 8.9 จากปีก่อนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และอัตราการว่างงานในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมก็ถีบตัวขึ้นถึงร้อยละ 5.9 อย่างไรก็ตาม แลมยังคงมองโลกในแง่ดีต่อแนวโน้มของฮ่องกงและเชื่อว่าข้อดีของฮ่องกงไม่ถูกกระทบกระเทือน

“เราอยู่ในกรอบของ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และก็อยู่ในระบบตุลาการอิสระและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ” แลมกล่าว “กลยุทธ์ของรัฐบาลฮ่องกงคือการรักษาความได้เปรียบที่เราเคยมี และรอโอกาสอันดีที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง”

ตั้งแต่เขตเศรษฐกิจกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า ไปจนถึงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน “สิ่งเหล่านี้จะนำโอกาสมากมายมาให้แก่ผู้ประกอบการและธุรกิจในฮ่องกง ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ” แลมกล่าว

แลมหวังว่าฮ่องกงจะขยายความร่วมมือกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจ ด้านการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์และนวัตกรรม เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตนอย่างเต็มที่ และเผยว่า “มหาวิทยาลัยในฮ่องกงอย่างน้อย 3 ถึง 4 แห่งวางแผนที่จะสร้างวิทยาเขตใหม่ในเขตเศรษฐกิจกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า”

ทั้งนี้ ฮ่องกงทำหน้าที่เป็นฐานสำคัญสำหรับกิจกรรมระดมทุนของธุรกิจจากแผ่นดินใหญ่ และเป็นช่องทางการชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวนในธุรกรรมระหว่างประเทศ ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพระดับสูงด้านการอนุญาโตตุลาการ การศึกษา และการรักษาพยาบาล

 

อุปสรรคทางการเมือง

ในขณะที่ก้าวถึงโอกาสต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศ ฮ่องกงก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวเองเช่นกัน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 แลมทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดในการพัฒนาของฮ่องกงและสร้างพลังขึ้นใหม่ นโยบายล่าสุดของเธอที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัย การจัดหาที่ดิน การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และการพัฒนาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การขัดขวางการผ่านญัตติของฝ่ายค้านได้หันเหแนวทางสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนมาเป็นประเด็นการเมือง

แลม กล่าวว่า ข้อเสนอการพัฒนาของรัฐบาลหลายฝ่ายอันรวมถึงโครงการบุกเบิกที่ดิน ถูกขัดขวางมาโดยตลอด “ฉันหวังว่าประชาชนจะมองเห็นชัดเจนว่าใครกันแน่ที่ขัดขวางการพัฒนาของฮ่องกง”

แลมยังคงมองไปข้างหน้า และเผยว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เธอปรารถนาจะประสบผลสำเร็จ “สร้างบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น พัฒนาพื้นที่มากขึ้น ปรับปรุงการสื่อสารและการศึกษา ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม… ฉันหวังว่าจะผลักดันทุกๆ ด้านนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้”