‘กรมรางฯ’ วอนผู้ให้บริการระบบราง เข้ม Social Distancing พร้อมสั่งเพิ่ม 4 มาตรการ ‘แบ่งกลุ่ม-จำกัดจำนวนผู้โดยสาร’ ก่อนเข้าใช้บริการ หวังสกัด ‘โควิด-19’

“กรมรางฯ” บุกตรวจระบบรถไฟฟ้า เข้มงวด Social Distancing พร้อมสั่งผู้ให้บริการเพิ่ม 4 มาตรการ แบ่งกลุ่ม-จำกัดจำนวนผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า หวังป้องกัน “โควิด-19” วอนประชาชนให้ความร่วมมือ-วางแผนการเดินทาง

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนปรนล็อกดาวน์ในกิจการบางประเภท ทำให้มีประชาชนเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จนมีภาพความหนาแน่นในการเดินทางทั้งบริเวณชานชาลาและภายในตัวรถไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้นั้น เมื่อช่วงเช้าเวลา 06.00 น. วันนี้ (7 พฤษภาคม 2563) ตนจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามข้อห่วงใยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมรางฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันเพื่อวางมาตรการแนวทางให้ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง โดยกรมรางฯ จึงได้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อขอความร่วมมือเข้มงวดการดำเนินงานตามนโยบายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม กรณีมีจำนวนผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มเติมจากการดำเนินการเดิม 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาสภาพรถ สภาพทาง อุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้องในการให้บริการ 2.หากมีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการที่เข้ามาในระบบเกินขีดความสามารถในการรองรับจนกระทบต่อการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ให้บริหารจัดการมาตรการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเข้าระบบในแต่ละคราว (Group Release) แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ก่อนการขึ้น-ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร, ก่อนการผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ

3.เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เกี่ยวกับแนวทางการใช้บริการตามข้อ 2. พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการปฏิบัติ วางแผนการเดินทาง และเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อให้สามารถลดความหนาแน่นและคงการปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล 4.เพิ่มเจ้าหน้าที่หรือสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาหรือในสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน โดยหากมีอุปสรรคขัดข้องในการดำเนินการ ให้แจ้งอธิบดีกรมการขนส่งทางรางทันที

นายสรพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้พบว่าหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี ทั้งการตรวจวัดอุณภูมิ, การให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยทุกคนก่อนเข้าใช้บริการ และการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อการจัดแบ่งเป็นกลุ่ม (Group Release) ให้กับผู้โดยสาร พร้อมทั้งมีการเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร

สำหรับรายละเอียดจากการลงพื้นที่นั้น ในส่วนของ BTS พบว่า บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม และสถานีสุขุมวิท มีการบริหารจัดการที่ดี โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจมาช่วยให้บริการประชาชน ขณะที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ได้รับแจ้งว่ามีความหนาแน่นที่บริเวณสถานีห้วยขวาง ด้านรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความหนาแน่นที่สถานีหัวหมากและลาดกระบัง แต่ผู้ให้บริการทุกรายได้จัดการระบบ Group release

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชน ให้วางแผนในการเดินทาง พร้อมทั้งพิจารณาหากสามารถดำเนินการการสลับหรือเหลื่อมเวลาในการทำงาน และเผื่อเวลาการเดินทาง นอกจากนี้ ให้ประชาชนป้องกันรักษาสุขอนามัย สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19

“กรมการขนส่งทางราง ขอขอบพระคุณประชาชนผู้ใช้บริการที่ให้ความร่วมมือ และกรุณาเข้าใจในมาตรการที่ดำเนินการ และขออภัยหากการเดินทางอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นบ้างในชั่วโมงเร่งด่วน และขอขอบคุณหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดที่ได้ดำเนินตามมาตรอย่างเข้มงวด ในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของทางรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเป็นอย่างดียิ่ง” นายสรพงศ์ กล่าว