‘กรมรางฯ’ วอนผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง เข้มงวดมาตรการสกัด ‘โควิด-19’ หมั่นดูแลอุปกรณ์-สภาพรถ ล้อมคอกปัญหาเป็นเหตุทำผู้โดยสารหนาแน่น

“กรมรางฯ” วอนหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ร่วมมือปฏิบัติ-เข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19” หลังเช้าวันนี้ (5 พ.ค. 63) จุดสับราง BTS ขัดข้อง ส่งผลผู้โดยสารบนสถานีหนาแน่น พร้อมสั่งหมั่นดูแลอุปกรณ์-สภาพรถให้สมบูรณ์

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่จุดสับรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ระหว่างสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีสยาม ฝั่งมุ่งหน้าปลายทางสถานีบางหว้า เกิดเหตุขัดข้อง เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (5 พ.ค. 2563) ส่งผลให้การเดินรถสายสีลมล่าช้า เกิดความหนาแน่นของผู้โดยสารในสถานีรถไฟฟ้า ที่เริ่มออกมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น หลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนปรนล็อกดาวน์ในบางกิจกรรม เช่น ร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่ติดแอร์ ตลาดสด ตลาดนัด ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และห้างสรรพสินค้า จนทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ/แพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากความหนาแน่นของผู้โดยสาร

ทั้งนี้ กรมรางฯ ได้ประสานไปยังบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลและให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้เร่งดำเนินการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก รวมทั้งได้ประสานไปยังหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางอื่นๆ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ดำเนินการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาสภาพรถโดยสาร ระบบการเดินรถ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการและไม่เกิดเหตุขัดข้องอย่างกรณีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน หากมีความหนาแน่นของผู้โดยสารในแต่ละสถานี ให้หน่วยงานผู้ให้บริการฯดำเนินมาตรการบริหารการเข้าสู่ระบบของผู้โดยสาร โดยคำนึงถึงมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19) อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จากบุคคลอื่นๆ ในระยะอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อรับบริการตามความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการแบ่งเป็นกลุ่ม (Group Release) 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ก่อนการขึ้น-ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว ตอนที่ 2 ก่อนการผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และตอนที่ 3 ก่อนเข้าสู่ขบวนรถ พร้อมทั้งให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในการเผื่อเวลาการเดินทางเพื่อลดความหนาแน่น ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อ/แพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมรางฯ ขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งทางรางดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงภายในประเทศอีก