‘คลองเตยลิ้งค์’ พลิกคลองสร้างแลนด์มาร์คใหม่เมืองหาดใหญ่

ปัจจุบันเมืองหาดใหญ่ โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการ “คลองเตยลิ้งค์” ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยระยะทางยาวประมาณ 11 กิโลเมตรแต่สามารถพัฒนาให้เป็นเส้นทางแห่งการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ได้เป็นอย่างดี

นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เปิดเผยว่า โครงการงดัวกล่าว มีนายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เป็นผู้นำ ร่วมกับกลุ่มสถาปนิก Songkhla City Lab  ที่รวมกลุ่มของสถาปนิกเมือง (Urban architect) ที่นำโดย นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบเมืองด้านกายภาพ และ ทีมวิจัย “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” นำโดย ดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริษัทสงขลาพัฒนาเมือง จำกัดและอีกหลายหน่วยงานในพื้นที่ โดยเป็นการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่ว่าด้วยมหานครแห่งความสุข ของเทศบาลนครหาดใหญ่ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ 

สำหรับวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้คลองเตยลิ้งค์เชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน เชื่อมคนอยู่อาศัย และสัญจรไปมา พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่สองฝั่งคลอง ให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ก่อเกิดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ขึ้นมา สามารถเข้าใช้ประโยชน์แต่ละบ้านได้ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ร่วมกันในเบื้องต้นว่า หากจะทำให้เป็นเมืองแห่งการเดินขึ้นที่หาดใหญ่ สงขลาจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งทางกลุ่มได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น 7 เรื่องที่เป็น Quick win ในการพัฒนาเมือง และเมื่อหารือกับเทศบาลนครหาดใหญ่เห็นว่าควรริเริ่มในเรื่อง “คลองเตย ลิ้งค์” เพื่อให้สามารถใช้งานกับประชาชนในเมืองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ก่อน และวางแนวทางให้เป็นการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อคนเมือง และนักท่องเที่ยว โดยเน้นพื้นที่สีเขียว Walkable ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผนวกเทคโนโลยี 5G และการจอดรถเข้าถึงสถานที่อย่างชาญฉลาด

ในส่วนของแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ เป็นการนำเอาคลองเตยที่เป็นคลองระบายน้ำซึ่งผ่านใจกลางเมืองหาดใหญ่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ ในอดีตเป็นเพียงพื้นที่ทิ้งน้ำเสีย ให้มาใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนา เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่  โดยแนวคิด “พลิกคลอง เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้กับหาดใหญ่” เอาคลองที่พาดผ่านใจกลางเมืองมาเป็นนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองโดยนำโมเดลในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาดังกล่าว

“คลองเตย” จะเชื่อมโยงพื้นที่จำนวน 9 ชุมชน จึงจะมีส่วนช่วยให้แต่ละชุมชนเกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยขณะนี้ได้งบประมาณจากเทศบาลนครหาดใหญ่เริ่มดำเนินงานในปีนี้จำนวน 22 ล้านบาท เป็นการนำงบประมาณไปปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่เริ่มต้นก่อนที่ระดมทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ PPP เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนเมืองและนักท่องเที่ยวในอนาคต

การพัฒนาคลองเตยเริ่มมาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมาในบางส่วนเพื่อให้ประชาชนเห็นแนวทางและรูปแบบดำเนินการ ให้ประชาชนเห็นว่าเป็นพื้นที่การพัฒนาแห่งใหม่ของเมืองหาดใหญ่ รูปแบบทันสมัย ไม่ใช้ประโยชน์เฉพาะการปันน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดได้อีกด้วย จากการจัดทำหลังคาสีเขียว (Green roof) ใช้พลังงานแสงแดด (Solar cell) ให้แสงสว่างในพื้นที่นี้ 

ในเบื้องต้นโครงการนี้มุ่งพัฒนาเพื่อสนองแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนในพื้นที่จำนวน 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก พื้นที่เปลี่ยว แสงสว่างไม่เพียงพอยามค่ำคืน จึงดูไม่ปลอดภัย ประเด็นที่ 2 พบว่ามีพื้นที่จุดอับอยู่หลายจุด อาจนำไปสู่การลักทรัพย์ จี้ ปล้น ขึ้นได้ทั้งๆที่อยู่กลางเมือง และประเด็นที่ 3 คือความปลอดภัยด้านการจราจร ไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตริมแนวคลองได้อย่างเต็มที่นั่นเอง จึงนำไปสู่การออกแบบพื้นที่ริมคลองสนองความต้องการประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนได้อีกด้วย

โครงการ “คลองเตยลิ้งค์” เกิดจากแนวคิดการพัฒนาออกแบบร่วมกันของทีมสถาปนิกเมืองหาดใหญ่ในรูปแบบจิตอาสาร่วมกัน ให้เป็นทีมหาดใหญ่ซิตี้แล็ปอย่างสมบูรณ์แบบจึงประหยัดต้นทุนได้อีกมาก  อีกทั้งยังร่วมหารือกับทีมวิศวกรเมือง (Urban engineer) ในพื้นที่ เพื่อนำระบบสื่อสารทันสมัย 5G เข้าไปดำเนินการ ต้องปลอดภัย น่าอยู่ และใช้งานด้านคมนาคมได้อย่างกลมกลืน

โจทย์สำคัญ คือ เมื่อนำระบบสื่อสาร 5G เข้าไปใช้งานจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจากการนำระบบดิจิทัล 5G และ IoT  ไปใช้งานได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งยังให้นำพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ระบบการจัดเก็บขยะให้พื้นที่สะอาดทุกคนมีส่วนร่วมดูแล จึงถือเป็นพื้นที่นำร่องที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนชาวหาดใหญ่ไปสู่ความทันสมัยที่ดีได้ด้วยการพัฒนาทางกายภาพพื้นที่ 

นอกจากนั้นในอีก 4-5 เดือนหลังจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาที่จอดรถเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ใช้ระบบขนส่งมวลชนให้บริการในพื้นที่ ระบบตั๋วทันสมัย พื้นที่มีความปลอดภัยจริงโดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปกำกับและบริหารจัดการ จัดเป็นพื้นที่เซฟตี้โซนอย่างชัดเจน ประการสำคัญยังเร่งพัฒนาระบบการใช้รับจ่ายเงินได้อย่างเรียลไทม์ ตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยไม่ต้องใช้เงินสดอีกต่อไป จัดให้เป็นพื้นที่ทดลองส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและงบประมาณได้อย่างตรงตามเป้าหมายจริงๆ โดยเป้าหมายอีกประการคือ ชุมชนรอบข้างจะต้องได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ทั้งนี้ ยังมีแผนในการเชิญชวนการตั้งกลุ่มสื่อสารเมือง (Urban media) เพื่อสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวกและให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศมาเลเซียที่จะมาท่องเที่ยวที่ขับรถมาด้วยตนเอง (Free Independent Travellers)  อีกราว 4-5,000 คันในช่วงวันหยุด ด้วยระยะทาง 30 กิโลเมตรจากด่านจะถูกแนะนำให้ไปจอดยังสถานที่ต่างๆอย่างเป็นระบบ พร้อมกับจ่ายคูปองเชิญชวนใช้บริการนักท่องเที่ยวด้วยส่วนลดของร้านค้าและบริการต่างๆ ในเมืองได้อีกด้วย แนะนำกันต่อไปยังเพิ่มสิทธิพิเศษจึงจะเป็นการเปลี่ยนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

สำหรับแผนดำเนินการโครงการคลองเตยลิ้งค์แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 3 ปีแรกจะวางแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 50% ขณะนี้เร่งนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้งานในพื้นที่นำร่อง เพื่อให้สามารถรองรับและให้บริการโดยเฉพาะห้องพักโรงแรมต่างๆกว่า 1.2 หมื่นห้องได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด และยังต้องการให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดความแม่นยำจริงๆ  และมีข้อมูลของเมือง (City Data Platform) ที่จะนำมาสู่การมีนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองการบริการคนเมืองและนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น

ในส่วนการต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆนั้นยังมองว่าต้องการให้ขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆทั่วเมืองสงขลาในระยะต่อไป โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของ “เมืองปลอดอากร” (Duty Free Zone) ที่จะคุมการค้าส่งออกแล้วทำให้เมืองปลอดภัยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อย่างตรงเป้าหมาย โดยภายในเดือนนี้มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้มีการวางแผนทิศทางการพัฒนาในระยะยาวและริเริ่มโครงการขับเคลื่อนระยะสั้น (Quick win)เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วยความสำเร็จร่วมกันโดยเร็ว

ดังนั้นหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จเชื่อว่า “คลองเตยลิ้งค์” จะค่อยๆพลิกโฉมเมืองหาดใหญ่ในหลายๆด้านต่อเนื่องกันไป พร้อมกับการใช้ดิจิทัลเข้าไปมีส่วนด้านการพัฒนาเมือง  ควบคู่ไปกับการรวบรวมบิ๊กดาต้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ต่อไป