‘ศักดิ์สยาม’ ดึงโมเดล ‘Bus Lane’ กลางถนน อิมพอร์ตไอเดียจากเกาหลีประยุกต์ใช้ในไทย เล็งนำร่อง ถ.เพชรบุรีตัดใหม่-สุขุมวิท-พระราม4-พระราม6

“ศักดิ์สยาม” ดึงโมเดล “Bus Lane” กลางถนน อิมพอร์ตไอเดียจากเกาหลีประยุกต์ใช้ในไทย สั่ง สนข. เร่งศึกษาภายใน 1 เดือน เล็งนำร่องถนนเพชรบุรีตัดใหม่-สุขุมวิท-พระราม4-พระราม6 พร้อมดึงเอกชนร่วม PPP คาดเสนอ คจร. ไฟเขียวเดือนหน้า ยันช่วย ขสมก.ลดต้นทุน-แก้จราจร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อช่วงวันที่ 21-23 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมานั้น กระทรวงคมนาคมเตรียมประยุกต์นำแนวทางการจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับรถโดยสารประจำทาง (Bus Lane) อยู่บริเวณกลางถนน มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยทำให้รถสาธารณะไม่ส่งผลให้การจราจรติดขัดกับรถของประชาชน และรถสาธารณะประเภทอื่นที่ต้องจอดด้านซ้าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนั้น สามารถนำมาใช้กับถนนที่มีความเหมาะสมในด้านกายภาพได้ หลังจากในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีใช้ในถนนนราธิวาส

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ศึกษาและบูรณาการเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ก่อนได้ข้อสรุปเพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาถายใน เม.ย. 2563 โดยในเบื้องต้นมีถนนหลายเส้นทางใน กทม. ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 และถนนพระราม 6 เป็นต้น 

“เกาหลีใต้ทำมานานแล้ว ซึ่ง Bus Lane ประชาชนให้ความร่วมมือมาก ไม่เข้าไปใช้ใน Bus Lane และมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง ทั้งโทษปรับและยึดรถทันที สำหรับการทำ Bus Lane ในไทยนั้น มีตัวอย่างแล้ว แต่ต้องดูกายภาพทางถนนจริงว่า มีปริมาณเลนเพียงพอหรือไม่ มีเกาะกลางถนนที่จะสร้าง Bus Lane ได้หรือไม่ โดยการสร้างป้ายหยุดรถเมล์ จะห่างจากไฟแดงประมาณ 80-100 เมตรเท่านั้น หลังจากลงรถเมล์สามารถเดินไปที่ไฟแดงข้ามทางม้าลายได้ จะทำให้รถสาธารณะวิ่งได้อย่างต่อเนื่อง ดีกว่าจะนำมาไว้ข้างซ้าย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการ Bus Lane นั้น ภาครัฐจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม โดยมีแผนที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะทำให้ ขสมก. มีต้นทุนในการให้บริการที่ต่ำลง เนื่องจากเป็นช่องทางเฉพาะ รถสามารถวิ่งให้บริการได้ตรงเวลา และไม่ติดปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดด้วย

ขณะเดียวกัน หากสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ที่เหมาะสมของ กทม.นั้น จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งในอนาคตจะเปิดใช้รถไฟฟ้าจำนวนหลายเส้นทางตามแผนในปี 2569 เป็นต้นไป รวมทั้งเชื่อมกับการเดินทางทางน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ทั้งยังลดปัญหาการจราจร การใช้พลังงาน และลดฝุ่น PM 2.5 ได้