เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเตรียมยื่นสภาผู้แทนฯ

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโวยพาณิชย์ ผลการศึกษาแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่โปร่งใส เตรียมยื่นสภาผู้แทนฯ เปิดรับฟังความเห็นประชาชน

กรณีศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาว่า ยังคงการแบนไว้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั้น นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” กล่าวว่า “คณะทำงานฯ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและงานวิจัยจากต่างประเทศที่เครือข่ายส่งให้เลย จึงถือว่ามติที่ออกมาขาดความโปร่งใส ขาดความชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการพิจารณาข้อมูลข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบคอบในทุกด้าน แต่กลับเลือกเอาข้อเสนอของ ศจย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้ามาตลอดแต่เพียงอย่างเดียว”

“เราเชื่อว่าประชาชนต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและผู้สูบบุหรี่ควรมีโอกาสเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ ซึ่งมีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วเช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา และอีกหลายประเทศในยุโรป ปัจจุบันมีเพียง 30 กว่าประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ยังไม่ก้าวหน้าด้านสาธารณสุข”

“การแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลสามารถควบคุมปัญหาหรือควบคุมการใช้ได้ เห็นได้จากการที่คนใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายทั้งๆ เป็นสินค้าที่ถูกแบนอยู่ ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่หรือต้องการลดการสูบบุหรี่ สามารถค้นหาข้อมูลเองได้จากอินเตอร์เน็ต เพราะประชาชนไม่เชื่อถือข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและกลุ่มต่อต้านบุหรี่อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีการลักลอบนำเข้า การสูญเสียรายได้ภาษี การแอบซื้อขายทางออนไลน์ของเยาวชน การจับกุมผู้ใช้และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราเห็นว่ารัฐบาลควรออกกฎหมายมาควบคุมการใช้ให้เหมาะสมและป้องกันเด็กเยาวชนมากกว่ากว่าแบนโดยสิ้นเชิง”

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายเสริมว่าผลการศึกษาของ ศจย. ค้านกับผลการศึกษาจากต่างประเทศที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนมาติดบุหรี่มวน “สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษระบุว่าในแต่ละปีบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้อย่างน้อย 2 หมื่นคน ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์มีงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยออกแลนด์พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนอายุ 14-15 ปีลดลงแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ประตูไปสู่บุหรี่ธรรมดาแบบที่นำมาอ้างกัน”

“ผลการศึกษาของ ศจย. และมติที่ประชุมฯ สรุปแบบสวนทางนานาชาติว่าให้แบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เราเลยอยากเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการศึกษาของ ศจย. ให้คนทั่วไปได้รับทราบว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลครบถ้วนทุกด้านและฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ และเราเตรียมจะยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อช่วยชีวิตคนไทยกว่า10 ล้านที่สูบบุหรี่ให้มีทางเลือกที่ดีกว่าการสูบบุหรี่ต่อไป” นายมาริษ กล่าวสรุป