‘คมนาคม’ เตรียมคลอดใบอนุญาตขับรถไฟในไทย ลุยกำหนดบทลงโทษ ‘พักใช้-เพิกถอน’ ต้นแบบขนส่งทางบกฯ คาดได้ใช้ภายในปี 64

“คมนาคม” เตรียมคลอดใบอนุญาตขับรถไฟในไทย ลุยกำหนดบทลงโทษ “พักใช้-เพิกถอน” ต้นแบบขนส่งทางบกฯ คาดได้ใช้ภายในปี 64 ด้าน “กรมรางฯ” เผยปัจจุบันไทยมีคนขับรถไฟทุกระบบ 1,930 คน เชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เล็งออกใบรับรองสถาบัน-หลักสูตรฝึกอบรม เดินตามโมเดลญี่ปุ่น

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านขนส่ง) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ครั้งที่ 3-1/2563 ว่า การประชุมในวันนี้ (26 ก.พ. 2563) เพื่อพิจารณาขั้นตอนการออกกฎกระทรวง และการออกใบอนุญาตขับขี่รถไฟในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของบทลงโทษของผู้ถือใบอนุญาต สอดคล้องกับการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ…. ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ทั้งนี้ ใบอนุญาตขับขี่รถไฟนั้น จะมีอายุประมาณ 5 ปี ออกให้กับผู้มีสัญชาติไทย ที่มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ โดยใช้แนวทางการดำเนินการออกใบอนุญาต คล้ายกับการออกใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แบ่งออกเป็น 5+1 ประเภท ประกอบด้วย 1.ใบอนุญาตขับรถจักรไอน้ำ 2.ใบอนุญาตขับรถไฟไฟฟ้า 3.ใบอนุญาตขับรถไฟดีเซล 4.ใบอนุญาตขับรถไฟฟ้าความเร็วสูง 5.ใบอนุญาตขับรถรางไฟฟ้า (แทรม) และ 6.ใบอนุญาตอื่นๆ ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำหนด

ในส่วนของบทลงโทษนั้น จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การพักใช้ใบอนุญาต โดยมีบทลงโทษสูงสุดไม่เกิน 1 ปี กรณีที่มีการกระทำความผิดค่อนข้างร้ายแรง และ 2.การเพิกถอนใบอนุญาต อย่างน้อย 3 ปี กรณีที่กระทำความผิดร้ายแรง อาทิ การใช้ความเร็วเกิน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเดินรถ โดยมีผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม การออกใบอนุญาตดังกล่าว คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2564

นายพีระพล กล่าวต่ออีกว่า ตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นที่ปรึกษาให้กับ ขร. นั้น ที่ประชุมจึงได้มีการหารือถึงเรื่องการรับรองสถาบัน และหลักสูตรการอบรมของพนักงานการขนส่งทางราง แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การรับรองสถาบันการอบรม, หมวด 2 การรับรองหลักสูตรการอบรม, หมวด 3 การรับรองสถาบัน และหลักสูตการอบรมจากต่างประเทศ และหมวด 4 การรับรอบครูฝึกอบรม ทั้งนี้ กฎกระทรวงการออกใบอนุญาตนั้น ให้อำนาจ ขร. ในการรับรองทั้ง 4 หมวดดังกล่าว

ด้านนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดี ขร. กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีพนักงานขับรถไฟทุกระบบ 1,930 คน แบ่งเป็น พนักงานขับรถไฟฟ้า BTS ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 388 คน, พนักงานขับรถไฟฟ้า MRT ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ จำนวน 313 คน, พนักวานขับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จำนวน 60 คน และพนักงานขับรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 1,169 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น จะใช้หลักสูตรเทียบกับประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ในส่วนของสถาบันอบรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ขร. จะพิจารณารับรองให้โดยการออกบทเฉพาะกาล