ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์ ชี้ ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีลดลง 7% ผลจากศก.ชะลอตัวทั้งในปท.-ส่งออก

ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในเดือนธันวาคม ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รวมทั้งการชะลอตัวการผลิตจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการผลิตรถยนต์รวมทั้งปี ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตยังสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากพิจารณารายผลิตภัณฑ์ พบว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการผลิตรถยนต์นั่งขนาด 1,500 ซีซี ขึ้นไป จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก

ตลาดรถยนต์ในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทปรับตัวลดลง

ในเดือนธันวาคม 2562 ประเทศไทยมีปริมาณรถยนต์จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ที่เป็นรถ BEV 148 คัน ประกอบด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 137 คัน รถแท็กซี่ 10 คัน และรถโดยสาร 1 คัน เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากมีผู้นำเข้ารถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในขณะที่รถ HEV และ PHEV มีปริมาณจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) 1,367 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากมีรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด เปิดตัวสู่ตลาด และเป็นรถยนต์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีสรรสามิต ส่งผลให้ปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ในเดือนธันวาคม รวมมีจำนวน 1,515 คัน

จากปริมาณการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออก ส่งผลให้ ตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม 2562 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์สะสมจำนวน 2,013,710 คัน ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสะสมจำนวน 1,007,552 คัน ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และปริมาณการส่งออกรถยนต์สะสม 1,054,103 คัน ลดลง
ร้อยละ 8 คิดเป็นมูลค่า 17,889 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออกมีปริมาณมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 11 และ 5 ตามลำดับ

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 2,000,000 คันลดลงร้อยละ 0.7 ประกอบด้วยการจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน ลดลงร้อยละ 0.7 จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาภัยแล้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลง และปริมาณการส่งออก 1,000,000 คัน ลดลงร้อยละ 5 จากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในเดือนธันวาคม 2562 ประเทศไทยผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการผลิตรถจักรยานยนต์ประเภท Commuter และ Sport >400 cc ที่เพิ่มขึ้นในช่วงท้ายของปี แต่โดยภาพรวมปริมาณการผลิตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศ ลดลงร้อยละ 17 จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้กำลังซื้อจากเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะจักรยานยนต์ประเภท Commuter แต่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 251 ถึง 399 ซีซี ขยายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น

ในเดือนธันวาคม 2562 มีปริมาณจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ (ป้ายแดง) ประเภท xEV จำนวน 362 คัน ประกอบด้วย รถ HEV 305 คัน และรถ BEV 57 คัน เป็นผลต่อเนื่องจาก “โครงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อครู” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้รถจักรยานยนต์แบรนด์ดังกล่าวได้รับความนิยม และขยายตลาดไปยังหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2562 มีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม 5,020 คัน เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ซึ่งประกอบด้วย รถ HEV 4,229 คัน และ รถ BEV 791 คัน

ในด้านการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากเปลี่ยนจากการส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่แทน โดยเฉพาะขนาดมากกว่า 400 ซีซี จึงส่งผลให้มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่อชิ้นสูงจากปริมาณการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออก ส่งผลให้ ตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม 2562 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์สะสมจำนวน 1,948,480 คัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศสะสมจำนวน 1,718,587 คัน ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สะสมจำนวน 364,050 คัน ลดลงร้อยละ 2 คิดเป็นมูลค่าที่ 1,699 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการผลิต และจำหน่ายในประเทศมีปริมาณน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 7 และ 2 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกมีปริมาณมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 4

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย คาดการณ์การผลิตรถจักรยานยนต์ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 2,100,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 1,700,000 คัน ลดลงร้อยละ 1 จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาภัยแล้ง และประมาณการส่งออก 400,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากแนวโน้มการส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง