‘สมคิด’ สั่ง ‘ออมสิน-ธปท.’ ช่วยปชช.-ราชการ หนุนปชช.เข้าถึงแหล่งทุน-เร่งมาตรการลดหนี้ขรก.

“รองฯ สมคิด” มอบนโยบายให้ ออมสิน และธปท. ผนึกกำลังช่วยเหลือประชาชนกลุ่มฐานราก และคนทั่วไป ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ หวังให้ชุมชน และคนทั่วไปได้มีเงินทุนในการสร้างธุรกิจต่อไป พร้อมสั่งกำชับเร่งหามาตรการช่วยลดภาระหนี้กลุ่มข้าราชการ หลังพบยอดรวมเงินกู้คงค้างเกือบ 6.3 แสนล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กับธนาคารออมสินว่า ธนาคารออมสินไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะ ดังนั้นธนาคารออมสินจึงต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานบริษัท พ่อค้า-แม่ค้า รวมไปถึงกลุ่มลูกค้า SME ซึ่งต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการ ดังนั้นธนาคารออมสินเองจึงต้องพยามเข้าให้กลุ่มลูกค้าต่างๆ เพื่อดูว่ากลุ่มคนเหล่านั้นต้องการให้ธนาคารช่วยอะไร ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่าสามารถทำให้หนี้เหล่านี้สามารถหมุนเวียนได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีระบบในการติดตามที่ดีพอ และอนาคตจะมีการนำระบบดาต้าเบส หรือฐานข้อมมูลเข้ามาช่วย ในการปล่อยสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันอีกต่อไป

ขณะนี้ ลูกค้ากลุ่มฐานรากมีเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคือง แม้กระทั่งงบประมาณของภาครัฐเองก็ตามยังติดขัดอยู่เช่นกัน ดังนั้นเรื่องของการปล่อยสินเชื่อต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่จะต้องพยายามกระจายไปให้ทั่วถึงด้วย นอกจากนี้ยังต้องโฟกัสการปล่อยสินเชื่อให้เข้าถึงทุกคนในชุมชน ไม่ใช้ปล่อยสินเชื่อให้เพียง 1-2 รายเท่านั้น เพราะการปล่อยสินเชื่อให้กับทุกคนในชุมชนจะทำให้คนในชุมชนช่วยกันได้ โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยในเดือนที่ผ่านมาได้เดินทางไปเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนทางภาคใต้ ซึ่งจากเดิมชุมชนได้รับผลกระทบจากธุรกิจที่ไม่ดี แต่เมื่อได้มีการนำท่องเที่ยวมาเชื่อมโยง ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนนั้นมีการเติบโตเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในเรื่องมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของข้าราชการ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งการพร้อมกำชับมาอย่างจริงจัง โดยอยากให้ธนาคารออมสินช่วยผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ของราชการ ซึ่งถือเป็นปัญหาสะสมมานาน ภาระหนี้มีสูงมากจนกระทั่งลูกหนี้บางรายเกือบจะไม่มีทางจ่ายหนี้คืนได้ ดังนั้น จึงได้ให้ธนาคารออมสินไปหารือกับ ธปท. ถึงการหาแนวทางในการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ โดยดูพฤติกรรมของลูกหนี้ในแต่ละกลุ่ม ว่าส่วนไหนที่สามารถช่วยเหลือได้และทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่ โดยมาตรการดังกล่าวต้องทำออกมาอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบที่เหมาะสม รวมไปถึงเรื่อง เครดิตการ์ด ที่วงเงินลูกหนี้มีอัตราเต็มเพดานจำนวนมาก เนื่องจากลูกค้า ส่วนใหญ่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น และถือบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยากให้เข้าไปดูว่าสิ่งไหนสามารถลดดอกเบี้ยได้ให้ลดลงมา

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ ธนาคารออมสินจะเร่งหาแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาในเบื้องต้น ซึ่งความช่วยเหลือจะเป็นการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบเครดิตเงินคืน เพื่อใช้ในการหักเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ที่ยังมีการผ่อนชำระหนี้ โดยลูกหนี้ดังกล่าวนี้จะมีสัดส่วนราว 90% ของจำนวนลูกหนี้ข้าราชการโดยรวมทั้งหมดของธนาคารออมสิน

ปัจจุบัน บุคลากรภาครัฐที่มีสินเชื่อกับธนาคารออมสินทั้งสิ้น 1,183,182 ราย แบ่งเป็น ข้าราชการพลเรือน/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 600,129 ราย คิดเป็นคิดเป็น 51% ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา 489,060 ราย คิดเป็น 41% ทหารอีก 48,052 ราย คิดเป็น 4% และตำรวจอีก 45,941 ราย คิดเป็น 4% ส่วนสินเชื่อคงค้างโดยรวมของลูกหนี้ทั้งหมดที่กล่าวมามีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 629,138 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ของข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 185,722 ล้านบาท เงินกู้ของบุคลากรทางการศึกษา 394,927 ล้านบาท เงินกู้ของตำรวจ 28,064 ล้านบาท และเงินกู้ทหาร 20,425 ล้านบาท