‘กรมรางฯ’ เล็งใช้ ‘เครื่องยึดเหนี่ยวราง’ ผลิตในไทยแทนจีน หนุนนโยบาย ‘Thai First’ เร่งถก วว. จ่อเคาะสรุปภายใน 6 เดือน

“กรมรางฯ” รับลูกนโยบาย ”Thai First-ใช้ยางพารา” เร่งบูรณาการสร้างมาตรฐานงานระบบราง ลุยผนึก วว.-ม.สงขลาฯ ศึกษาผลิต “เครื่องยึดเหนี่ยวราง” เอง หลังทางคู่เฟสแรกอิมพอร์ตแดนมังกร 6.6 ล้านตัว หวังช่วยหั่นงบลงทุน หนุนอุตฯในประเทศ คาดศึกษาเสร็จภายใน 6 เดือน พร้อมเล็งใช้ในทางคู่เฟส 2

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งอธิบดี ขร.นั้น เตรียมประสานความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมถึงจะจัดให้มีการบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรทางรางในต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพ และสร้างมาตรฐานในงานระบบราง ทั้งในส่วนของรถไฟ และระบบไฟฟ้า 

ขณะเดียวกัน ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาการดำเนินการนโยบาย “Thai First” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อนนั้น เพื่อให้โครงการก่อสร้างต่างๆ ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นการลดใช้วัสดุจากต่างประเทศ ดังนั้น ขร. จึงเตรียมหารือร่วมกับ วว. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อกำหนดมาตรฐานรับรองให้ไทยสามารถพัฒนาและผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Rail Fastener) และหมอนรองรางรถไฟได้เอง ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นการนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด โดยจะช่วยประหยัดงบประมาณ รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ยังช่วยสนับสนุนการนำยางพารามาใช้เป็นวัตถุดิบได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากนี้

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดี ขร.

ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้เครื่องยึดเหนี่ยวราง และหมอนรองรางรถไฟอย่างมหาศาล โดยในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะทาง 993 กิโลเมตร (กม.) นั้น ได้ใช้เครื่องยึดเหนี่ยวรางกว่า 6.6 ล้านตัว และใช้หมอนรองรางรถไฟ จำนวน 1.65 ล้านหมอนรองราง ซึ่งในทางรถไฟ ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้หมอนรองรางรถไฟ 1,660 หมอนรองราง และใช้เครื่องยึดเหนี่ยวราง 2 ชุด (เหล็กบน-ล่าง จำนวน 4 ตัว) อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถดำเนินการได้เองนั้น จะนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,483 กม.

“ทาง วว. รับที่จะเข้ามาช่วยเหลือกับเรา คือ วัสดุบางตัวเราสามารถสร้างเองได้ ดังนั้นทำไมเราไม่ทำเอง ทำให้เป็นมาตรฐานรางไทย เพราะหมอนรองรางเราสร้างเองได้แล้ว ถ้าเราสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวรางได้อีก ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณมหาศาล เพราะ ตอนนี้เรานำเข้าจากจีน โดยเครื่องยึดเหนี่ยวราง ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อ 1 ชุด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างรวบร่วมรายละเอียด แต่ส่วนที่เห็นชัด คือ เราได้ช่วยใช้ยางพาราในประเทศ ใช้เหล็กในประเทศ และซัพพลายเออร์ ได้มีงานทำ ถ้าทำได้ และเป็นไปตามนโยบาย Thai First ด้วย” นายสรพงศ์ กล่าว