‘บินไทยฯ-ไทยสมายล์’ สนองนโยบาย ‘บิ๊กตู่-บิ๊กโอ๋’ ลุยลดการสูญเสียทรัพยากรอาหารในภูมิภาค หลังพบเสียวัตถุดิบจากการผลิตปีละ 20 ล้าน

“การบินไทย-ไทยสมายล์” สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” ผนึกกำลัง “สวทช.” ลุยลดการสูญเสียทรัพยากรอาหารในภูมิภาค ด้าน “ศักดิ์สยาม” แนะพัฒนาระบบให้ผู้โดยสารเลือกอาหาร-เครื่องดื่มก่อนขึ้นเครื่อง หลังพบ “การบินไทย” เสียวัตถุดิบจากการผลิตอาหารปีละ 20 ล้าน ฟาก “สุเมธ” วางเป้าปีแรกลด 3% พร้อมรับลูกประเดิมใช้ในเส้นทางยุโรปปีนี้ ก่อนครบทุกเที่ยวบินในปี 64 สู่เป้าหมายสายการบินยั่งยืนภายในปี 66 ขณะที่ “ไทยสมายล์” ตั้งธงปี 63 ลดการสูญเสียอาหาร 16.45 ตัน/ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการห้ามใช้หรือให้มีการเก็บภาษีพลาสติก เพื่อยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นวาระของชาติ ผนวกกับความร่วมมือในครั้งนี้นั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหามลภาวะ ลดอัตราการสูญเสียทางด้านทรัพยากร ช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะขยายผลไปดำเนินการกับหน่วยงานรัฐวิสาหิจอื่นๆ ของทุกกระทรวง รวมถึงภาคประชาชน และภาคเอกชนด้วย

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สายการบินไทย และสายการบินไทยสมายล์ ไปพัฒนาระบบ Pre-Selected Menu เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกเมนูอาหาร-เครื่องดื่ม รวมถึงขนาดให้เหมาะสมก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการทิ้งอาหารที่อาจจะเหลือจากการให้บริการ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งลดต้นทุนให้กับสายการบินได้ด้วย ขณะเดียวกัน ควรมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน นอกเหนือจากเรื่องของความปลอดภัย

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สายการบินไทยและไทยสมายล์ตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียอาหาร พร้อมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันข้อมูลจากการศึกษาพบว่า องค์ประกอบของขยะมูลฝอยของบางพื้นที่มีขยะอาหารเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วน 33-50% ของขยะทั้งหมด

ขณะที่ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ ได้กำหนดนโยบายในบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร รวมถึงการบริหารจัดการในการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การหาวิธีใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการผลิตอาหารในครัวการบิน และลดปริมาณอาหารที่เหลือจากการให้บริการบนเครื่อง ทั้งนี้ การบินไทยยังกำหนดเป้าหมายโดยมุ่งสู่การเป็นสายการบินเพื่อความยั่งยืน ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอย่างจริงจังนั้น จะเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบิน โดยจะทำให้การบินไทยลดการสูญเสียวัตถุดิบจากการผลิตอาหารถึง 400 กิโลกรัม/วัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท/ปี

ในส่วนของการพัฒนาระบบ Pre-Selected Menu เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกเมนูก่อนตามข้อแนะนำของนายศักดิ์สยามนั้น คาดว่าจะสามารถลดการสูญเสียอาหารที่ผู้โดยสารไม่ต้องการได้ถึง 20% โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวจะเริ่มใช้ในเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางยุโรปในปี 2563 และภายในปี 2564 จะมีการดำเนินการในทุกเที่ยวบิน ทั้งนี้ การบินไทยตั้งเป้าหมายว่า ในปีแรกของการดำเนินการ จะสามารถลดการสูญเสียอาหารรวมได้ประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,078 ตันคาร์บอน/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่จำนวน 230,000 ต้น (ประมาณ 2,000 ไร่) สอดคล้องกับวาระแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้ในที่สุด

ด้านนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กล่าวว่า ไทยสมายล์ได้ตระหนักถึงการลดการสูญเสียทรัพยากรอาหาร โดยได้ริเริ่มดำเนินนโยบายรักษ์โลกอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2561 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้โดยสารที่ปฎิเสธการรับอาหารของไทยสมายล์ จำนวน 1.4% ต่อเที่ยวบิน ดังนั้น ในปี 2563 นี้ จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการอาหารและลดการสูญเสียอาหารบนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนที่จะให้ผู้โดยสารสามารถเลือกแสดงความประสงค์ในการปฏิเสธอาหารบนเที่ยวบินล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการปริมาณอาหารบนเที่ยวบินได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2563 จะลดความสูญเสียอาหาร ได้ถึง 16.45 ตันต่อปี แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 5.7 ตันต่อปี และเส้นทางระหว่างประเทศ 10.75 ตัน ต่อปี จากปริมาณการสูญเสียอาหารที่คาดการณ์ 100,000 มื้อต่อปี