ครม.ไฟเขียว 46 เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม มูลค่า 1.79 แสนล้าน ผูกพันปี 64-67 ครอบคลุม ‘บก-ราง-อากาศ’

ครม.ไฟเขียว 46 เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม มูลค่า 1.79 แสนล้าน ผูกพันปี 64-67 ครอบคลุม “บก-ราง-อากาศ” หนุนการขนส่งโลจิสติกส์ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ-ประชาชนเดินทางสบาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดนราธิวาสในวันนี้ (21 ม.ค. 2563) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป  ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564 – 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 36,384 ล้านบาท 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย

  1. กรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 41 โครงการ วงเงินรวม 170,665 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ  2564 วงเงิน 34,133 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 51,199 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 51,199 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 34,133 ล้านบาท
  2. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 3,151 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ  2564 วงเงิน 630 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 1,260 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1,260 ล้านบาท
  3. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,800 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 760 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 760 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1,140 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1,140 ล้านบาท
  4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,055 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 861 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 1,194 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในส่วนของ 46 โครงการ วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทนั้น ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) 41 โครงการ ประกอบด้วย แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 365 สายทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือ ซึ่งจะขยายเป็น 4 ช่องจราจร และ 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สายคลองหลวงแพ่ง-อ.บางน้ำเปรี้ยว โดยจะขยายเป็น 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ 2 เส้นทางดังกล่าวนั้น ถือเป็นเส้นทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง โดยเฉพาะรถปูนซีเมนต์เข้าสู่ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นอกจากนี้ กรมทางหลวง ยังมีแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 38 โครงการ แบ่งออกเป็น 2 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนเพชรเกษม 2.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค รวมถึงเชื่อมโยงกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธิน และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะถือเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ

2.แผนงานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน 35 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันออก ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 117-บรรจบทางหลวงหมายเลข 225, โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันออก), โครงการขยายช่องจราจรเป็น 6 ช่อง บนทางหลวงหมายเลข 204 ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา วงเงิน 1 พันล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก-ทางหลวงหมายเลข 32, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก เป็นต้น และ 3.แผนงานบูรณาการการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงของ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายหลักในการขนส่งสินค้าภาคเหนือ ไปสู่ สปป.ลาว และจีนตอนใต้

ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) นำเสนอ 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง อ.จุน จ.เชียงราย, จ.พะเยา ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจาก จ.เชียงราย ลงสู่พื้นที่ภาคกลางผ่านทาง จ.พะเยา ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการเดินทาง 2.โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงให้มีความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการเดินทาง รองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคมขนส่งในพื้นที่ด้วย

ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นำเสนอ 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานตรัง และ 2.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการนั้น ดำเนินการเพื่อรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ได้ รวมถึงรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 20 ปี ส่งเสริมการคมนาคมทางอากาศ การท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ 

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอ 1 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบโครงข่าบโทรคมนาคม เนื่องจากอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ใช้งานอยู่เป็นระบบเก่า รวมทั้งสัญญาร่วมทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงหมดอายุสัญญาแล้ว รฟท.จึงต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารระบบควบคุมการเดินรถให้เป็นมาตรฐานสากล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงเพื่อยกระดับการให้บริการระบบราง ด้านการโดยสาร และการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยสูงสุด