“สนธิรัตน์” เปิดงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัค โชว์ 2019 ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 62 ส.ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัค โชว์ 2019 ที่ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางพลังงานภาคการขนส่งจะไปทางไหน:B20 หรือรถไฟฟ้า” ในประเด็นสำคัญ ว่า สมาคมฯ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนที่ใช้รถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการกระจายการค้าภายในประเทศและในกลุ่มอาเซียน เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เกิดการหมุนเวียนสินค้า สร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดงานอินเตอร์เนชั่นแนล ทรัค โชว์ 2019 แสดงนวัตกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีใ หม่ๆ เพื่อให้เกิดระบบจัดการขนส่งที่ดีขึ้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง นโยบายพลังงานกับภาคขนส่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสูงสุด ในสัดส่วน 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งรถภาคขนส่งส่วนใหญ่จะเป็นรถดีเซลที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สะอาดมีส่วนช่วยลด PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ที่ผ่านมาสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ทำไปแล้วคือ การยกระดับการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มที่ B7 ไปเพิ่มส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนสูงขึ้นเป็น B10 ใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลทั่วไป และมี B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน มีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเร่งขับเคลื่อนมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กับเครื่องยนต์และคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานใหม่ได้ภายใน ปี 2567
สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ก็เป็นมาตรการหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (EEP 2015) ตั้งเป้าหมายส่งเสริมรถ EV ในปี 2579 รวม 1.2 ล้านคัน ซึ่งล่าสุดก็ได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 ของ กฟผ. ไปแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรถ EV ในประเทศไทย

โดยแผนส่งเสริม EV จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมการใช้ การสนับสนุนด้านภาษี และทำให้เกิดการสร้างฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดมลพิษในเขตเมือง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เมืองน่าอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสร้างระบบแบตเตอรี่สำรองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV และโครงการระบบรางต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานีหลัก โดยจะถูกบรรจุอยู่ในโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)