‘คปภ.’ ร่วมมือ ‘ภาคธุรกิจประกันภัย’ แนะแนวทางปรับตัวรับมือกฎหมายใหม่

คปภ. ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ออกโรงเตือน ตัวแทนประกันภัย – นายหน้าประกันภัย – ผู้ประเมินวินาศภัย – บริษัทประกันภัยเร่งปรับตัวรับมือกฎหมายใหม่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยและการได้รับบริการด้านการประกันภัยของประชาชน หลังมีผลบังคับใช้

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวในงานสัมมนา “โครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย (กลุ่มที่ 1) และการปฏิบัติตามประกาศที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย” ถึงเรื่องของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยในการปฏิบัติตามประกาศของสำนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยและการได้รับบริการด้านการประกันภัยของประชาชน

สำหรับ กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและมีผลบังคับใช้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในหลายภาคส่วนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้  โดยในส่วนของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยมีการปรับปรุงเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติ กรณีที่ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีความเข้มข้นมากขึ้น  โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อวางมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการปรับปรุงเกี่ยวกับมาตรการลงโทษ ซึ่งแต่เดิมจะมีแค่การเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้นไม่ว่าการกระทำของตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่กฎหมายใหม่นี้ได้เพิ่มมาตรการในการพักใช้ใบอนุญาต รวมทั้งโทษปรับและจำคุกเพื่อให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ คือ ผู้ประเมินวินาศภัย ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการของผู้ประเมินวินาศภัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ประเมินวินาศภัยบุคคลธรรมดาจะรวมตัวกันดำเนินการภายใต้รูปแบบนิติบุคคล โดยในการกำกับดูแลผู้ประเมินวินาศภัยตามกฎหมายใหม่นี้ได้วางกรอบให้ผู้ประเมินวินาศภัยนิติบุคคลต้องมีระบบธรรมาภิบาลและบริหารจัดการที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของตนเอง

ขณะเดียวกัน ยังเกี่ยวข้องกับตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย ผู้ประเมินวินาศภัย และบริษัทประกันภัย อีก 2 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก การดำเนินการใดๆ ที่กระทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงาน คปภ. สามารถกำหนดวิธีการในการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะได้ โดยในอนาคตอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้นวัตกรรมทางด้าน Insurtech หรือ RegTech ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจประกันภัย และประเด็นที่สอง มีการกำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัยเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ กับผู้ที่กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินการจัดการกับการฉ้อฉลประกันภัยที่เกิดจากทั้งบุคคลที่อยู่ในธุรกิจประกันภัย และนอกธุรกิจประกันภัย โดยขณะนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกระบวนการในการดำเนินการเมื่อพบเหตุฉ้อฉลประกันภัย

“กฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยที่มีการแก้ไขนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัยโดยตรง ทำให้ได้รับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม ซึ่งธุรกิจประกันภัยต้องมีการบริหารจัดการการเรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างยุติธรรม ดังนั้นจึงต้องมีการปรับจูนแนวปฏิบัติให้ตรงกันเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว