ทอท.ออกโรงชี้แจงแบ่งรายได้เข้ากองทุนฯ ยันไม่กระทบผู้โดยสาร

ทอท.ออกโรงชี้แจงไม่มีนโยบายเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน กรณีการนำรายได้สมทบทุนกองทุนเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน พร้อมยันไม่กระทบผู้โดยสาร

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่า ทอท. จะปรับค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) หากต้องนำรายได้ของ ทอท. สมทบให้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยานว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ยังมิได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และ ทอท.ไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้สั่งการให้ ทอท. หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ทอท.ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง ให้มีมาตรฐานและมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ให้บริการประชาชน และนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงภาพรวม รวมทั้งประโยชน์ของประเทศโดยรวมแล้ว เป็นนโยบายที่ดี และ ทอท.ในฐานะหน่วยงานที่มีความพร้อม และมีประสบการณ์ 

“ทอท.พร้อมจะให้การสนับสนุนทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาคบางแห่งที่มีศักยภาพสูง เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หนาแน่นมาจากการใช้บริการท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตได้ ตลอดจนท่าอากาศยานบางแห่งที่มีโอกาสในการเพิ่มรายได้ พัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เช่น ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์” นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวต่ออีกว่า เมื่อพิจารณาประโยชน์ของประเทศโดยรวมแล้ว นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี และ ทอท.พร้อมสนับสนุนซึ่งเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำการศึกษาข้อมูล เพื่อเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง ทอท. พร้อมจะให้การสนับสนุนข้อมูลทุกๆ ด้านที่ ทอท. มี ให้แก่คณะทำงานศึกษา เพื่อที่จะสามารถเดินไปด้วยกันได้ตั้งแต่ต้น 

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการมาอย่างไรแล้ว ทอท.จะได้ปรับแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ให้สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง ทอท.มีความมั่นใจว่า การนำรายได้บางส่วนสมทบให้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค จะไม่กระทบต่อผลประกอบการของ ทอท. เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะให้ ทอท. รับจ้างบริหารท่าอากาศยานนานาชาติบางแห่งที่กรมท่าอากาศยานกำกับดูแลอยู่

ทั้งนี้ ทอท. จะมีรายได้จากการรับจ้างบริหารท่าอากาศยานนานาชาติเพิ่มขึ้น จะทำให้ผลประกอบการของ ทอท. น่าจะดีขึ้น และจะเป็นการสร้างมาตรฐานท่าอากาศยานภูมิภาคให้นานาชาติยอมรับ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยมากขึ้นด้วย หากว่าท่าอากาศยานในประเทศไทยมีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยง สนับสนุนกัน เพื่อให้บริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการให้ ทย.ไปศึกษาข้อกฎหมาย ในการแบ่งรายได้ ที่จัดเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) สนามบิน 6 แห่งของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของ ทย. ทั้ง 28แห่ง โดยให้เร่งหารือกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากยังมีข้อสงสัยว่า สนามบินนั้นหมายถึงสนามบินทั้งหมดหรือไม่ คือ สนามบินของ ทย. 28 แห่ง และสนามบินของ ทอท.อีก 6 แห่ง รวมถึงสนามบินของเอกชนด้วย

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2562 มาตรา 60/42 ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารสนามบินที่ใช้เพื่อสาธารณะเป็นการทั่วไป รัฐมนตรีมีอำนาจให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราไม่เกินร้อยละ10 เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียน กรมท่าอากาศยาน ตามมาตรา 60/44

ทั้งนี้ หากแบ่งรายได้จากค่า PSC สนามบิน 6 แห่งของทอท. ที่อัตรา 10% คาดว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน มีรายได้จากสนามบินกระบี่ ประมาณ 546 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น ดังนั้นรายได้ที่เข้ากองทุนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าเป็นอย่างน้อย จะทำให้สามารถมีเงินไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของทย. ทั้ง 29แห่ง ได้รวดเร็วกว่ารอ เงินงบประมาณจากรัฐบาล

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกฎหมาย การสอบถามกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนว่าไม่ได้ตีความกฎหมายผิด เนื่องจากกรณีดังกล่าว อยู่ในพ.ร.บ.การเดินอากาศ นานแล้ว ก่อนมีการแก้ไข ปรับปรุง แต่ไม่มีการนำมาใช้และรมว.คมนาคมไม่เคยมีการออกประกาศมาก่อน หากมองในมุมพัฒนาประเทศโดยรวม เช่น สนามบินตรัง ตอนนี้มีรันเวย์ ยาว 2,100 เมตร แต่หากเพิ่มเป็น 2,400 เมตร เครื่องบินลำใหญ่จะลงได้ จะช่วยด้านเศรษฐกิจได้อีก แต่รอ งบประมาณ ดังนั้นไม่อยากให้ยึดติดว่าจะต้องเก็บอะไรไว้ หรือไม่ให้อะไร หรือในอนาคตหากมีการโอนสนามบิน ของทย. ให้ทอท. เช่นอุดรธานี สามารถนำรายได้ PSC มาแบ่งให้กองทุนฯได้