‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ ยังไม่คืบ! หลัง EIA ตีกลับแผน พ่วง ม.เกษตรเสนอปรับแบบ

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล” สะดุด! หลัง EIA ตีกลับ  ฟาก “ม.เกษตร” โวยส่งผลกระทบพร้อมเสนอเปลี่ยนแนวเส้นทาง ด้าน สนข. แจงหากปรับแบบก่อสร้าง งบพุ่ง 1 หมื่นล้านบาท พร้อมยันใช้เส้นทางเดิม เตรียมชง คจร.ภายในเดือนนี้ คาดผู้โดยสารทะลุ 2 แสนคนต่อวันเมื่อเปิดใช้

นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงิน 50,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ตีกลับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กลับมาที่ สนข.เพื่อให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ หลังจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอในที่ประชุมให้พิจารณาแนวเส้นทางโครงการ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยฯ พร้อมเสนอให้ สนข.ปรับแนวเส้นทางจากเดิมไปใช้แนวเส้นทางอื่น

ทั้งนี้ ขณะนี้ อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด โดยพบว่าในปัจจุบันแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด คือ ใช้แนวเส้นทางเดิม หรือวิ่งตามถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดี ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีแคราย บนนถนนงามวงศ์วาน หลังจากนี้ จะเร่งสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาผลกระทบตามที่ทางมหาวิทยาลัยฯ เสนอมา

สำหรับทางเลือกในขณะนี้ หากจะพัฒนารถไฟฟ้าสายดังกล่าว ตามแนวเส้นทางเดิม จะต้องลงทุนโครงสร้างรูปแบบตัวยู (U) เพื่อครอบคลุมถนนและรถไฟฟ้า ทั้งยังเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้วงเงินลงทุนโครงการเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่แนวทางการก่อสร้างตอม่อร่วมกับโครงการทางด่วนสายเหนือตอน N2 ช่วงวงแหวนตะวันออก-แยกเกษตรนั้น ค่าก่อสร้างตอม่อร่วมกันนั้นอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท โดยโครงการทางด่วน N2 จะเริ่มก่อสร้างก่อนรถไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินในกองทุน TFF พร้อมลงทุนอยู่แล้ว แต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลยังต้องเสนอผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนก่อนเปิดประมูลโครงการ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดประมูลได้เมื่อใด

ขณะเดียวกัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะเปิดประมูลในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล เป็นฟีดเดอร์ผู้โดยสารเข้าสู่ระบบหลักเชื่อมรถไฟฟ้าสายหลัก 7 สาย อาทิ คือ สายสีม่วง ชมพู แดง เขียวเข้ม และส้ม โดยมีแนวเส้นทางวิ่งตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรไปตามแนวถนนงามวงวานศ์และไปจบที่แยกแคราย รวมทั้งสิ้น 18 สถานี มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 16% (EIRR) จากผลการศึกษาคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 218,000 คนเที่ยวต่อวัน

รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า ในส่วนของค่าก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น หากดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างตัวยูเพิ่ม หรือใช้รูปแบบการขุดอุโมงค์ไปเลยนั้น จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 20% ดังนั้นจึงเตรียมรายงานปัญหาให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบในเดือน ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโครงการนี้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ จะได้ประโยชน์รวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ไปจนถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายดังกล่าวอีกด้วย