‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งเพิ่ม 2 ทนายพิจารณาคดีโฮปเวลล์ ฟาก ‘ทนายนกเขา’ เตรียมบุก 4 หน่วยงานดึงเข้าช่วยรับผิดชอบ พร้อมลั่น! เรื่องนี้ผิดตั้งแต่แรก แย้ง มติ ครม.

“ศักดิ์สยาม” ตั้ง 2 ทนายตัวแทนคมนาคม พิจารณา-สู้คดีโฮปเวลล์ ด้าน “ทนายนกเขา” เตรียมบุกยื่น 4 หน่วยงานพรุ่งนี้ (21 พ.ย. 62) ช่วยปฏิบัติหน้าที่-รับผิดชอบ คล้ายคดี “รับจำนำข้าว” พบกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย้งมติ ครม. ยัน “โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)” ไร้อำนาจ-ลงนามผิดตั้งแต่แรก จ่อฟ้องศาลปกครองพิจารณาตัดสิน พร้อมออกความเห็นส่วนตัว “ผมไม่ยอมจ่าย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าของกรณีคดีโฮปเวลล์ว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งทนายความ 2 ท่าน เพื่อมาดำเนินการสู้คดีดังกล่าว คือ นายศุภชัย ใจสมุทร และนายชนินทร์ แก่นหิรัญ ในฐานะตัวแทนทนายของกระทรวงคมนาคม โดยเหตุผลที่เลือกทนายทั้ง 2 ท่านนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และเพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย และพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ด้านนายนิติธร ลํ้าเหลือ หรือทนายนกเขา ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในคดีโฮปเวลล์ กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานฯ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย. 2562) จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมบัญชีการ ถึงการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบต่อคดีดังกล่าวนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่เพียงแค่กระทรวงคมนาคมเท่านั้น เช่นเดียวกับคดีรับจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากการพิจารณาเอกสาร พบว่า กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ รฟท. ไม่มีอำนาจในสัญญาดังกล่าว ขณะที่การเจรจาของ รฟท. กับเอกชนนั้น ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการตรวจสอบรายละเอียดด้วย

“กระทรวงการคลังต้องมาช่วยดูด้วย เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เหมือนคดีรับจำนำข้าวในอดีต ที่ตอนแรกฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ แต่ต้องกลับไปฟ้องกระทรวงการคลัง และคดีนี้ประชาชนทั่วไป ถ้าเห็นเอกสารก็รู้แล้วว่าไม่ถูกต้อง ผิดฝาผิดตัว และเท่าที่ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เห็นว่าไม่มีการอนุญาตให้กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีแต่โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จึงสงสัยว่าโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นคนมาลงนามในสัญญาได้ไง และมาฟ้องคดีได้ยังไง ซึ่งเรื่องนี้ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งถ้าไม่ทำ ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายนิติธร กล่าว

นายนิติธร กล่าวต่ออีกว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด จากพยานทางเอกสาร เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงกับมติ ครม. และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ รวมถึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นธรรมและถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน ซึ่งศาลปกครองจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินต่อไป

“ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผมนะ ไม่เกี่ยวข้องกับคณะทำงาน และคณะรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องของเอกสาร ไม่ใช่เรื่องบุคคล และผมจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย เพราะข้อมูลที่เรามี เห็นว่าหลายกระบวนการไม่เป็นไปตามกฎหมาย และสัญญาไม่น่าจะมีผลบังคับใช้” นายนิติธร กล่าว