“นกแอร์” โชว์ผลประกอบการ Q3/62 ขาดทุนลดเกือบ 50% ปัจจัยบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ-สอดคล้องแผนฟื้นฟูธุรกิจ

“นกแอร์” โชว์ผลประกอบการ Q3/62 ขาดทุนลดเกือบ 50% ปัจจัยจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องแผนฟื้นฟูธุรกิจ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส3/62 บริษัท (ไม่รวมบริษัทย่อย) มีการขาดทุนอยู่ที่ 486.86 ล้านบาท ลดลง 49.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 973.79 ล้านบาท และใน 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีการขาดทุนอยู่ที่ 1,240.95 ล้านบาท ลดลง 29.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 1,748.47 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีการขาดทุนลดลง เนื่องจากบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนต่างๆได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส3/62 บริษัทรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 2,437.76 ล้านบาท เติบโต 0.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 2,436.03 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทยังมีรายได้จากค่าโดยสารในประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 9.47 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน เพิ่มขึ้น 13.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 8.37 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน

อีกทั้งบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3,273.53 ล้านบาท ลดลง 14.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3,837.45 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนอากาศยานที่ลดลง ประกอบกับบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างประสิทธิภาพ ตามแผนการลดค่าใช้จ่าย ตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท ส่งผลให้ในไตรมาส 3/62 บริษัทมีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารอยู่ที่ 2.05 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร ลดลง 15.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารอยู่ที่ 2.43 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร และมีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1.44 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร ลดลง 15.29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1.70 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร

นอกจากนี้ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,652.07 ล้านบาท ลดลง 13.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,283.67 ล้านบาท ตามจำนวนอากาศยานที่ลดลง ประกอบกับการที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบินให้ตรงต่อเวลา (On-time performance) เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้บริษัทยังสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท ทำให้ต้นทุนต่อปริมาณผู้โดยสารลดลงเป็น 2.17 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตรลดลง5.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีต้นทุนต่อปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 2.29 บาทต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร