‘บินไทยฯ’ โอดเงินบาทแข็งค่า-เครื่องบินน้อย ฉุดกำไรต่อหน่วยลดลง พุ่งเป้าปี 63 เน้นกลยุทธ์กำหนดราคาตั๋วเหมาะสม

“การบินไทย” โอดเงินบาทแข็งค่า-เครื่องบินน้อย ฉุดกำไรต่อหน่วยลดลงจากปีก่อน เล็งปรับกลยุทธ์ปี 63 เน้นกำหนดราคาตั๋วเหมาะสม ลุยถกพันธมิตร เปิดบินสู่ “แมนเชสเตอร์” ปีหน้า เตรียมรับมอบฝูงบิน 3 ลำ Q4/63 ก่อนนำมาบินเส้นทางยุโรป พร้อมโยน “ไทยสมายล์” บินระยะสั้น ด้าน “สุเมธ” คาดปีนี้ไทยสมายล์ขาดทุนกว่า 2.2 พันล้าน ยันไม่ลดถือหุ้น “นกแอร์”

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของการบินไทยในปีนี้ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า กอปรกับจำนวนเครื่องบินที่มีไม่มากนัก ส่งผลให้ต้องมีการปรับกำไรต่อหน่วย (Yield) ลดลงจากปีก่อน ในส่วนของอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) นั้น ภาพรวมอยู่ที่เกือบ 80% ขณะที่ในปี 2563 มีแผนที่จะมีการใช้กลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มเนื่องจากในปีนี้ มีการใช้กลยุทธ์ด้านราคาอย่างมาก จึงมองว่าหากสามารถกำหนดราคาตั๋วที่เหมาะสมและมี Yield ที่ดีขึ้น คาดว่าในปี 2563 จะมี Cabin Factor ไม่ต่ำกว่า 80% รวมถึงมีแผนที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) อย่างชัดเจนด้วย อาทิ สามารถนำแต้มไมล์สะสมแลกตั๋วเส้นทางยุโรป โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสมาชิก ROP ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 ล้านคน และมีสมาชิก ที่มีความเคลื่อนไหวจาก 6-8 แสนคน เป็น 1.2-1.6 ล้านคน

ทั้งนี้ ในส่วนของการการเปิดเส้นทางใหม่นั้น อยู่ระหว่างหารือร่วมกับพันธมิตร เพื่อเปิดเส้นทางไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษในปี 2563 ขณะที่ด้านความร่วมมือ “ไทยกรุ๊ป” นั้น ยังมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางกอกแอร์เวย์สด้วย โดยมีแผนต้องใช้กลยุทธ์การบินแบบเครือข่าย ซึ่งจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนในปีหน้า ส่วนแผนการเปิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นยอมรับว่า มีการเปิดตัวช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้แต่ยืนยันว่าเดินหน้าธุรกิจนี้ต่ออย่างแน่นอน สำหรับสายการบินไทยสมายล์นั้น ในปีนี้มีอัตราการใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 8 ชั่วโมง 15 นาที โดยในช่วงต้นปีได้มีบริหารให้เป็น 10 ชั่วโมง 30 นาทีในปัจจุบัน และการบินไทยได้ช่วยทำการตลาด ส่งผลให้ตัวเลขต่างๆ และ Yield ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะพอมีกำไรได้ในช่วงสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การบินไทยยังรับรู้ผลขาดทุนจากไทยสมายล์ในอัตราที่ขาดทุนลดลง ซึ่งจะรับรู้ผลขาดทุนลดลงเหลือประมาณ 2,000-2,200 ล้านบาท ซึ่งจะต้องปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ภายในปีนี้ เพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ในปี 2563 ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าไทยสมายล์จะมีอัตราการใช้เครื่องบิน 10.30 ชั่วโมงเต็มปี พร้อมเชื่อมต่อกับเครือสตาร์อัลไลแอนซ์ได้เต็มรูปแบบช่วง ก.พ. 2563 นอกจากนี้ในส่วนของสายการบินนกแอร์นั้น ขณะนี้การบินไทยยังไม่มีนโยบายลดการถือหุ้นนกแอร์ แม้นกแอร์จะมีผลประกอบการขาดทุน โดยบริษัทถือหุ้นนกแอร์ไม่ถึง 20% จึงไม่กระทบกับผลประกอบการมากนัก

นายสุเมธ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการฝูงบินนั้น ในช่วงไตรมาส 4/2563 การบินไทยจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่บริษัทเช่าซื้อไว้ก่อนหน้านี้ จำนวน 3 ลำ โดยอาจมีการนำมาใช้ในเส้นทางยุโรปทดแทนเครื่องบินเก่า และนำเครื่องบินเดิมมาบินในเส้นทางที่มีระยะสั้นมากขึ้น และจะให้สายการบินไทยสมายล์ มาบินในเส้นทางระยะสั้นทั้งหมด และการบินไทยไปใช้ในเส้นทางระยะกลางถึงไกล เพื่อการบริหารจัดการฝูงบินที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพการมากขึ้น รวมถึงให้การบินไทยสามารถเพิ่มอัตราการบินขึ้นให้สามารถบินได้ 12.15 ชั่วโมงต่อวัน และ ASK จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้อย่างน้อย 2%