‘ศักดิ์สยาม’ ควง ‘ถาวร’ ตรวจงานการบินไทย สั่งเร่งแผนฟื้นฟู-จัดหาเครื่องบิน ตั้งธงกลับมาเป็นเบอร์ 1

“ศักดิ์สยาม” ควง “ถาวร” ตรวจงาน “การบินไทย” เร่งสรุปแผนจัดหาเครื่องบิน พร้อมมั่นใจการบินไทยกลับมาครองตลาดได้  จ่อลงนาม MRO อู่ตะเภา ด้าน “เอกนิติ” แจงปมซื้อเครื่องบินอืด สั่งรื้อแผนเส้นทางบินทั้งระบบ หลังเจอสงครามการค้า ฟาก “สุเมธ” แย้มเล็งขายที่ดิน 4,000 ล้าน เสริมสภาพคล่อง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากานกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงาน ที่ประกอบด้วย การบินไทย, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อบูรณาการในการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พยายามให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยให้กรอบเวลา 3 เดือนในการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ 

ขณะที่แผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาทนั้น ได้สั่งการให้เร่งสรุปแผนภายใน 6 เดือน หรือเร็วกว่านั้น เนื่องจากเครื่องบินมีผลต่อการสร้างรายได้และลดการขาดทุน ตลอดจนเป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขันกับคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยได้ โดยเชื่อมั่นว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันมีความสามารถในการปฏิรูปองค์กร เพื่อเป็นสายการบินแห่งชาติที่มั่นคงอีกครั้ง

ทั้งนี้ การจัดหาอากาศยานนั้น ได้ให้การบินไทยไปพิจารณาใน 2 ส่วน แบ่งเป็น 1.อากาศยานที่มีอยู่แล้ว มีสถานะภาพเป็นอย่างไร มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการให้สามารถนำเครื่องบินกลับมาทำรายได้ให้ได้ และ 2.วิธีการบริหารที่ขณะนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ แต่จะต้องทำแผนการใช้ให้สอดคล้องกับแผนบุคลากรด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทในพื้นที่อู่ตะเภานั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับ Airbus ได้รับความคืบหน้าไปมากแล้ว เช่นเดียวกับสัญญา RFP ที่มีการเสนอบอร์ดอีอีซีให้พิจารณาแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญากับ Airbus ได้ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ได้มีการมอบนโยบายให้การบินไทยไปทบทวนเกี่ยวกับเรื่องบุคลากรว่า ในปัจจุบันบุคลากรที่มีอยู่ได้มีการปฎิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ และมีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพ และลดปัญหาค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ 

ขณะเดียวกัน ให้ไปพิจารณาเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในเครื่องบิน ว่ามีปริมาณการใช้เท่าไหร่ บางอย่างสามารถเรียกคืนเพื่อให้สามารถลดต้นทุนในการประกอบกิจการได้และให้ไปพิจารณาในส่วนของการให้บริการที่มีศักยภาพหลายเรื่องที่จะต้องมีการนำไปสู่การปฎิบัติให้ได้

***รื้อแผนเส้นทางบิน***

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)​ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่แผนจัดซื้อเครื่องบินล่าช้านั้น เนื่องจากการบินไทยต้องกลับมาพิจารณาขีดศักยภาพในการใช้หนี้สิน เนื่องจากการซื้อเครื่องบินใหม่ ต้องทำการกู้เงินจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องตัวเลขหนี้สินสะสมในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องเงินทุนในมือ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ได้ฝากความมั่นใจไปให้กับผู้ถือหุ้นว่า ขณะนี้การบินไทยยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับตัวเลขสภาพคล่องของบริษัท ยังคงมีสุขภาพดี ส่วนคำถามที่ว่าทำไมผู้โดยสารเพิ่มและมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยว (Cabin Factor) มากกว่า 80% แต่รายได้ไม่เติบโตไปด้วยนั้น นายเอกนิติ ระบุว่า เพราะค่าตั๋วโดยสารนั้นแข่งขันกันมาก จึงขายตั๋วได้ราคาต่ำลงเพราะต้องลดราคามาสู้กับคู่แข่ง

นายเอกนิติ กล่าวต่ออีกว่า การบินไทยต้องกลับมารื้อแผนเส้นทางบินในมือทั้งหมด เพื่อศักยภาพในการหารายได้ โดยเฉพาะตลาดเส้นทางบินเอเชีย ซึ่งอดีตเคยเชื่อว่าจะเป็นตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น เรื่องสงครามการค้า และการแข่งขันที่รุนแรง โดยเส้นทางบินกรุงเทพ-ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักถูกแย่งผู้โดยสารไป

***เล็งขายที่ดิน 4,000 ล้าน***

ขณะที่ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 การบินไทยจะมุ่งเน้นการดำเนินการในส่วนของการสะสมไมล์ (Royal Orchid Plus หรือ ROP) เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารมาใช้บริการการบินไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ROP มีสมาชิกประมาณ 3-4 ล้านราย แต่มีผู้ใช้งานไม่ถึง 1 ล้านราย ซึ่งหลังจากนี้ การบินไทยจะต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิก และหันมาใช้ ROP มากขึ้น รวมถึงพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ และสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย

ด้านการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตามนโยบายของ รมว.-รมช.คมนาคมนั้น นายสุเมธ กล่าวว่า นอกจากในส่วนของเครื่องบินเก่าแล้ว จะมีการพิจารณาขายที่ดินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาทด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ การบินไทยจะมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯ เดิมบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อสั่งการของ รมว.คมนาคม และนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงแผนดังกล่าวนั้น จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้

นายสุเมธ กล่าวต่ออีกว่า สิ้นปีนี้มี 3 เรื่องที่จะเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1.เรื่องการเพิ่มรายได้ โดยจะใช้ Digital Marketing เพื่อนำมาเสนอขายตั๋วให้ได้มากที่สุดให้เต็มลำได้ทุกลำ 2.อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจเสริม ต้องให้เกิดขึ้นได้ตามแผน แม้จะยังไม่ส่งผลกับรายได้มากนัก แต่จะส่งผลไปในปีหน้า และ 3.เรื่องค่าใช้จ่าย จะเจรจาตัวค่าใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นไว้ก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายบ้างตัวตัดได้ก็ตัด ส่วนเรื่องการลดค่าตอบแทนผู้บริหารและบอร์ด ได้ดำเนินการแล้ว ซึ้งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องการลดวันหยุดงาน 1 วัน