ปิดดีล! เซ็นแล้ว ‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ ฟาก CP อัดงบ 1.4 แสนล้านพัฒนาพื้นที่มักกะสัน

ปิดดีล! เซ็นแล้ว “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” ลุยตอกเสาเข็มปลายปีหน้า เปิดใช้ภายในปี 68 “บิ๊กตู่” ลั่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-สร้างอาชีพ ฟาก “อนุทิน” ยันรัฐบาลเดินหน้าไฮสปีดเพิ่มอีก 2 เส้นทางสายเหนือ-ใต้ มั่นใจไทยมีความพร้อมลงทุน ด้าน CP ทุ่มเงินลงทุนมักกะสัน 1.4 แสนล้านบาท เนรมิตอสังหาริมทรัพย์ไฮเอนด์ ด้าน “คณิศ” เตรียมดันโครงการไฮสปีดเข้าตลาดหลักทรัพย์ เปิดขายหุ้นระดมทุนพัฒนา

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ถือเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศ ทั้งการพัฒนาการคมนาคมทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การขยายเมืองใหม่ รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่สัญญากำหนดไว้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การลงนามรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ​ เป็นโครงการประวัติศาสตร์ที่จะพลิกโฉมไปสู่ยุคใหม่ของระบบรางประเทศไทย สนับสนุนการเดินทางแบบไร้รอยต่อระหว่างระบบขนส่งคมนาคม ไปพร้อมกับยกระดับไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งยังสะท้อนความแข็งแกร่งของความร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในภูมิภาคเอเชีย เพื่อต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นครั้งแรกที่ผู้นำเทคโนโลยีรถไฟไฮสปีดอย่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน จับมือกันลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศที่สาม ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าสูงที่สุดตั้งแต่ไทยเคยพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แน่นอนว่าไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนไทย ทั้งการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงการไม่ต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่ง แต่ยังเกิดประโยชน์กับประชากรเอเชียที่สามารถเดินทางถึงกันได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านเส้นทางรถไฟไฮสปีดในไทย 2 สาย ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย และ ช่วงดอนเมือง-อู่ตะเภา

ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการนี้ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แม้ระหว่างทางจะติดขัดบ้าง แต่ตอนนี้ลงนามสัญญาร่วมกันแล้วถือว่าปัญหาจบแล้ว ทุกอย่างเดินตามข้อสัญญา RFP รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเอกชนในการพัฒนาโครงการนี้อย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด รู้สึกยินดีที่แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี เดินหน้าไปได้แล้ว ไม่ใช่โครงการในฝันอีกต่อไป หลังจากนี้จะมีการลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างอีกหลายโครงการมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท เช่น เมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

“โครงการนี้จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่จะเข้ามาในไทย ถือเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาอีอีซี ผลักดันประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทางนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีแผนเดินหน้าลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย โครงการรถไฟไฮสปีดสายเหนือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ และโครงการรถไฟไฮสปีดสายใต้ กรุงเทพ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอที่จะลงทุนต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องดีที่จะดึงต่างชาติมาร่วมพัฒนาเหมือนรถไฟไฮสปีดอีอีซี นอกจากนี้บริษัืทก่อสร้่างในไทยยังมีความสามารถเพียงพอที่จะก่อสร้างโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ ถือว่ามีความพร้อมทั้งด้านซัพพลายและการลงทุน

ขณะที่นายหยาง จิงจุน รองประธานบริษัท China Railway Construction Corporation หรือ CRCC กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศไทย ในวันที่การเดินทางสะดวกมากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้โอกาสไหลเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งผลประโยชน์ยังกระจายโอกาสไปยังเพื่อนบ้านในอาเซียนและมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในทวีปเอเซียได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามรู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมลงทุนระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง

***ทุ่มงบ 1.4 แสนล้านพัฒนาพื้นที่มักกะสัน***

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กล่าวภายหลังการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ที่ผ่านมามีการเจรจาอย่างเต็มที่ โดยตามสัญญาแนบท้าย ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่า ต้องเริ่มการก่อสร้างภายใน 12 เดือน และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นส่วนการก่อสร้างได้เร็วที่สุดเนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว แต่ส่วนดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด

ทั้งนี้ ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่มักกะสันนั้น CP และกลุ่มพันธมิตร มีแผนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการในการพัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยฯ รวมถึงรีเทล โรงแรม เพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนในพื้นที่มักกะสันประมาณ 1.4 แสนล้านบาท บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 2 ล้านตารางเมตร ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าพื้นที่มักกะสันซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นพื้นที่ปอดของกรุงเทพฯนั้น ยืนยันว่าจะทำให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากที่สุด และจะมีการพิจารณาเรื่องของทัศนียภาพด้วย

สำหรับการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และบริษัท ช.การช่าง จำกัด มหาชน มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา บริษัท China Railway construction Corporation limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูงและการบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง และการจัดหาดำเนินการรถไฟ ส่วนบริษัทจากประเทศอิตาลีเชี่ยวชาญการบริการหลังจากเอาระบบรถไฟขึ้น ซึ่งพาร์ทเนอร์ทั้ง 3 หน่วยงานนั้น มีความเข้มแข็งส่วนตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหม่นั้น หากทางกลุ่มพันธมิตรต้องการระดมทุนก็อาจเป็นการร่วมทุนไปตามระยะการก่อสร้าง ซึ่งยังมีอีกหลายจุด ที่จะทำให้มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนได้ โดยจะต้องเสนอขอให้ รฟท. เป็นผู้พิจารณาก่อน

นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า ด้านเงินกู้นั้น จะมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีธนาคารจากจีนและญี่ปุ่น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ หากเป็นการกู้ในประเทศจะคิดเป็นค่าเงินบาท แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศจะคิดเป็นดอลล่าห์สหรัฐฯ สำหรับในโครงสร้างงานโยธาอยู่ที่ประมาณ 65-70% ขณะที่ งานระบบเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณ 30-35% นอกจากนี้ ในส่วนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไกล แต่ยอมรับว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานมีการพิจารณาอยู่แล้ว เนื่องจากอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีของโครงการ

*** จ่อดันโครงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ***

ด้านนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการแรกที่เข้าสู่กระบวนการรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงให้แก่เอกชนจะดำเนินการในระยะกรอบเวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี 3 เดือน

“เดิมทีประมาณกรอบเวลาว่าจะใช้เวลา 4 ปี แต่ รฟท.จะเดินหน้าเร่งรัดให้การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเสร็จและส่งมอบพื้นที่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี 3 เดือน ถือว่าสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้งหมดของโครงการ” นายคณิต กล่าว

นายคณิต กล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่จะผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้กำลังคุยกับตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่งทีมมาดูว่าโครงการพวกนี้จะนำเข้าตลาดได้เมื่อไร ตอนนี้ทางทางตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งรองผู้จัดการมาช่วยดูเพื่อเตรียมตัว พร้อมเมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่ใช่ว่าโครงการจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เลย ส่วนใหญ่โครงการที่จะเข้าตลาดได้ต้องมีรายได้ระดับหนึ่งเห็นชัดเจนว่าราคาควรจะเป็นยังไง เนื่องจากเวลาที่ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนก็จะสูงมาก ก็แล้วแต่ความเหมาะสม แต่โดยหลักการเราพยายามเอาโครงการเหล่านี้เข้าตลาดฯให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ทำงานต่อเนื่องมา 22 เดือน ที่ควรกล่าวถึง ได้แก่คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธาน มีกรรมการจาก สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ และสำนักงานอีอีซีกระทรวงการคลัง ที่กรุณาช่วยดูความเหมาะสมเรื่องการลงทุนของโครงการนี้กระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ช่วยเหลือ ผลักดันและแก้ปัญหามาโดยตลอด/ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ช่วยพิจารณาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเวลาอันรวดเร็วกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงาน ที่ได้ให้การสนับสนุนอีอีซีในทุกเรื่อง รวมทั้งการแก้ปัญหาการปรับย้ายสาธารณูปโภคให้สามารถส่งที่ดินได้ทันเวลาโครงการนี้ถือว่าสำเร็จได้

***ส่งมอบพื้นที่ไม่เกิน 2 ปี***

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การรถไฟฯ ได้รับการยืนยันจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เกี่ยวกับการจัดการเรื่องสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท่อส่งน้ำมันก็ไม่มีปัญหา แม้ว่าในช่วงของพญาไท-ดอนเมืองมีปัญหาจริงแต่จะได้รับการดำเนินการแก้ไขตั้งแต่แรก ส่วนการมอบพื้นที่นั้น สามารถทยอยมอบพื้นที่พร้อมการก่อสร้างให้ได้ หากพื้นที่ในช่วงใดมีปัญหาจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกิน 2 ปี โดยทางการรถไฟฯ จะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้น

ด้านปัญหาพื้นที่เวนคืนนั้น คาดว่าจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในครั้งหน้า สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงคมนาคมมีบนโยบาย Thai first ที่จะมีการนำวัสดุภายในประเทศมาใช้นั้น มองว่าผู้รับเหมาไทยมีความสามารถที่จะสามารถออกแบบและใช้วัสดุภายในประเทศไทยในการก่อสร้างรวมถึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายสามารถดำเนินการผลิตได้ แต่สิ่งที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้เองคือเทคโนโลยีการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูง