‘คมนาคม’ ผุดแนวทางบริหารงานก่อสร้างโครงการ 6 มิติ แก้ปัญหาจราจร-โครงการเสร็จตามสัญญา เล็งกำหนดเงื่อนไขใน TOR

“คมนาคม” ผุดแนวทางบริหารงานก่อสร้างโครงการ 6 มิติ ตามรอยโมเดลทางหลวงหมายเลข 9-พระราม 2 เล็งกำหนดเงื่อนไขใน TOR กันเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด 2-3% จ่อเสนอบอร์ด EEC รับลูก พร้อมเตรียมสั่งหน่วยงาน 1 ต.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการบริหารจัดการจราจรในงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างในพื้นที่การจราจรหนาแน่นว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีแผนการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ (Mega Projects) ที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนาน นำแนวทางการบริหารจัดการจราจรในงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างในพื้นที่การจราจรหนาแน่น 6 มิติ ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย 1.ช่วงออกแบบ 2.ช่วงจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ช่วงก่อสร้าง พิจารณานำไปดำเนินการกับโครงการในปัจจุบันและอนาคต โดยในส่วนของโครงการที่จะดำเนินการในอนาคตนั้น จะนำไปเป็นเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา (TOR) ด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมทางหลวง (ทล.) ได้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้กับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 9 (วงแหวนตะวันออก) และโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระหว่าง กม.9+800.0000-กม.21+500.000 ระยะทาง 11.7 กม. (ถนนพระราม 2)

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เตรียมสั่งการอย่างเป็นทางการให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมถึงการพิจารณาใช้แนวทางดังกล่าว พร้อมทั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) วันที่ 30 ก.ย.นี้ ตนได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมข้อมูล เพื่อนำเสนอบอร์ดอีอีซีนำไปใช้กับโครงการต่างๆ ด้วย โดยในส่วนของข้อดีเมื่อนำแนวทางดังกล่าวไปใช้กับโครงการขนาดใหญ่นั้น คือ การแก้ไขปัญหาจราจร การดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จตามสัญญา และหากผู้ประกอบการสามารถนำไปบริหารจัดการได้ จะช่วยลดต้นทุนด้วย สำหรับมูลค่าของแนวทางการบริหารจัดการนั้น จะกำหนดไว้ในส่วนของค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดของโครงการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 2-3% ของโครงการ

ถนนพระราม 2 (แฟ้มภาพ)

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการจราจรในงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างในพื้นที่การจราจรหนาแน่น ประกอบด้วย 6 มิติ ได้แก่ 1.มิติการออกแบบ เลือกใช้เทคนิคและวิธีการก่อสร้างที่ใช้เวลาสั้น เพื่อลดผลกระทบจราจรกำหนดลงในแบบก่อสร้าง เล่น เทคนิควิธีการปรับปรุงคุณภาพดิน รวมทั้งเทคนิควิธีการใช้ระบบชิ้นส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จ (Pre-Cast) จากโรงงานมาประกอบที่หน้างาน รวมทั้งต้องวิเคราะห์การจราจรระหว่างก่อสร้าง Traffic Impact Assessment (ITA) จะต้องมีจำนวนช่องจราจรไม่น้อยกว่าเดิม และใส่รายละเอียดไว้ในแบบก่อสร้าง

2.มิติการประชาสัมพันธ์ ให้มีอุปกรณ์และตำแหน่งติดตั้งเครื่องมือ สำหรับการติดตามและให้ข้อมูลระหว่างการก่อสร้าง เช่น กล้อง CCTV, VMS (Variable Message Sign) ไว้ในแบบก่อสร้าง 3.มิติด้านสัญญา กำหนดแนวทางและดำเนินการจัดการจราจรไว้ในแบบสัญญาและ งบประมาณในการใช้ รวมทั้งมียอดเงินรายการสำรอง (Provisional Sum) สำหรับการบริหารจัดการจราจรในโครงการก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณการจราจรสูง 4.มิติการคัดเลือกผู้รับจ้าง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะด้านประสบการณ์ทำงานในโครงการที่ต้องบริหารงานก่อสร้างในพื้นที่ปริมาณการจราจรสูงทั้งบริษัทและตัวบุคลากรที่มีประสบการณ์

5.มิติจัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้มีค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคในสัญญาและให้เจ้าของงานเบิกจ่ายกับหน่วยงานสาธารณูปโภคภายหลัง และ 6.มิติการบริหารงานจราจร/การเร่งรัดการก่อสร้าง/การบริหารพื้นที่ร่วม จัดจราจรในแต่ละกิจกรรมการก่อสร้างและติดตามให้เสร็จภายในเวลา รวมทั้งกำหนดแผนงานก่อสร้างที่มีผลกระทบจราจร โดยระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดในงานแต่ละรายการให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนงานก่อสร้างกับโครงการที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน ให้ดำเนินการในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ตลอดจนปรับเปลี่ยนเวลาอนุญาตรถบรรทุกเข้าออกพื้นที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริหารและสั่งการเพื่อควบคุมการจรจารในโครงการก่อสร้างแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชม. รวมทั้งติดตั้ง CCTV และโมบาย VMS ให้ข้อมูลจราจร เพื่อให้ผู้ใช้รถตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เหมาะสม