‘ศักดิ์สยาม’ ชง ครม. 10 ก.ย.นี้ ชี้ชัดอำนาจตัดสินใจข้อพิพาททางด่วน

“ศักดิ์สยาม” ชง ครม. 10 ก.ย.นี้ ทบทวนมติขอเปลี่ยนมือรองนายกฯ ชุดเดิมให้อำนาจ “คมนาคม ยูไนเต็ด” ตัดสินใจ สั่งเร่งเคาะมูลค่าทางด่วนขั้น 2 เทียบอายุสัมปทาน หวั่นไม่คุ้มค่า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องค่าชดเชยทางด่วนกับเอกชนว่า ภายหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลขยายสัญญาทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระยะเวลา 30 ปี แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ขยายสัมปทาน 15 ปีแลกกับยกเลิกข้อพิพาทค่าชดเชยมูลค่า 100,000 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขให้เอกชนแบ่งรายได้ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 60% ของรายได้ทั้งหมด และสามารถปรับค่าผ่านทางได้ทุก 10 ปี 

ในส่วนด้านสัญญาที่ 2 ขยายสัมปทาน 15 ปี พร้อมเงื่อนให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) ระยะทาง 17 กม. มูลค่า 32,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่มั่นใจเรื่องการมอบสัญญาที่ 2 ให้เอกชนขยายสัมปทานอีก 15 ปี เพื่อแลกกับการลงทุนเพิ่มนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องให้ กทพ. มาชี้แจงข้อมูลว่า เหมาะสมกับตัวเลขมากน้อยแค่ไหน รายละเอียดการศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างไร ส่วนสัญญาที่ 1 ดูเหมาะสมแล้ว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในวันอังคารที่ 10 ก.ย. นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการขอแก้และทบทวนมติ ครม.เดิม ที่ให้อำนาจผู้ดำเนินการเรื่องค่าชดเชยค่าทางด่วน ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเก่า เนื่องจากปัจจุบันเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทำให้อำนาจในการดำเนินการเรื่องนี้ ไม่สามารถไปต่อได้ ตามแนวทางบริหารงานราชการ ดังนั้นต้องแก้ไขเปลี่ยนเป็นมอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมดูแลเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมก็ยังคงไม่มีอำนาจจัดการลงนามสัญญากับเอกชน เพราะต้องรอไฟเขียวจากรัฐบาลและการเห็นชอบของ ครม.เสียก่อน

 

***ลงทุนทางด่วนขั้นที่ 2 สมเหตุสมผล***

ด้านแหล่งข่าวจาก กทพ. ระบุว่า การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) นั้น เป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล เนื่องจากปัจจุบันสภาพการจราจรบนทางด่วนในชั่วโมงเร่งด่วนหนาแน่นมาก บางวันถึงขั้นวิกฤติ ดังนั้นการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 พร้อมจุด-ขึ้นลง 7 แห่ง จะสามารถบรรเทาการจราจรได้แบบในต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่มอีกด้วย เพื่อกระจายความหนาแน่นของรถบนทางด่วน สำหรับจุดที่มีปัญหาจราจรในขณะนี้ มีอยู่ 7 จุด ได้แก่ 1.ช่วงหมอชิตขาเข้า 2.ช่วงงามวงศ์วาน-ด่านประชาชื่น 3.ต่างระดับพญาไท 4.ช่วงอโศกมนตรี 5.ช่วงอนุสาวรีย์ 6.ช่วงพระราม 9 และ 7.ช่วงแยกไปบึงมักกะสัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับเงื่อนไขในการต่อสัญญาที่ 2 ซึ่งมีการก่อสร้าง Double Deck นั้น กทพ.จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)​ให้ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เสียก่อน จึงจะลงนามสัญญาที่ 2 ได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบ EIA เรื่องนี้ก็จะมีผลแค่สัญญาที่ 1 คือการต่อขยายสัมปทานแค่ 15 ปีแลกกับข้อพิพาททั้งหมด แต่จะไม่ได้ Double Deck เพื่อแก้รถติดบนทางด่วน