บอร์ด ทอท. ไฟเขียวรับโอน 4 สนามบิน เปลี่ยนแผนเล็งดึง ‘บุรีรัมย์-กระบี่’ แทน สนองยุทธศาสตร์ชาติ

บอร์ด ทอท.ไฟเขียวรับโอน 4 สนามบิน ลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเปลี่ยนแผนเล็งดึง “บุรีรัมย์-กระบี่” มาบริหารแทน ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งลงทุน 6.6 หมื่นล้านบาท แก้แออัดสุวรรณภูมิ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้มีมติเห็นชอบปรับแผนการขอรับโอน 4 สนามบินใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นขอรับโอนจากกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินตากและสนามบินอุดรธานี จากเดิมเป็นสนามบินชุมพร สนามบินสกลนคร สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี 

สำหรับการปรับแผนครั้งนี้นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การจราจรทางอากาศ และความแออัดของท่าอากาศยานภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือและใต้ ซึ่งสนามบินเชียงใหม่กับสนามบินภูเก็ตค่อนข้างแน่นมากแล้ว และไม่สามารถรอการพัฒนาสนามบินภูเก็ต 2 และสนามบินเชียงใหม่ 2 ได้เนื่องจากใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะเปิดบริการ 

ทั้งนี้ การปรับแผน 4 สนามบิน ซึ่งผลจะเป็นในทิศทางใดนั้น กระทรวงคมนาคมคงต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันอีกทีว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยในขณะนี้ ยังเป็นแค่มติของบอร์ด ทอท. ซึ่งอาจจะถูกตีกลับเหมือนการนำเสนอในครั้งแรกให้กลับมาพิจารณาใหม่ได้เช่นกัน โดยในสัปดาห์หน้าจะเสนอเรื่องเข้าสู่กระทรวงคมนาคม ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจวงเงินลงทุนปรับปรุงสนามบินให้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับวางยุทธศาสตร์การตลาด เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาศักยภาพทั้ง 4 สนามบิน ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ภาคพื้น อาคารผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้การส่งมอบพื้นที่ 4 สนามบินนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีความล่าช้าในยุคการทำงานของตน ดังนั้น จึงคาดว่าจะเสนอ ครม.เรื่องโอน 4 สนามบินได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอแผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่สอง วงเงิน 750 ล้านบาท และการขยายรันเวย์ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ให้สามารถลงจอดได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันสนามบินหลักของประเทศหลายแห่งประสบปัญหาความแออัด โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีผู้โดยสาร 60-70 ล้านคนต่อปี ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมศักยภาพสนามบินตามแผนแม่บทใหม่ของ ทอท. โดยมองว่า หากพัฒนาตามแผนแม่บทเดิม คือ ทยอยก่อสร้างเป็นลำดับนั้น จะทำให้ประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารลดลง 20% ดังนั้นจึงต้องสร้างอาคารหลังที่ 2 และส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันตก (West-Wing) ควบคู่กันไปกับงานก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายปริมาณรองรับผู้โดยสารทั้งฝั่งภาคพื้นและทางอากาศ นำไปสู่การแก้ปัญหาแออัดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ